COVID-19

‘เดลตาครอน’ โควิดสายพันธุ์ไฮบริดโผล่ไทยแล้ว 73 ราย โอไมครอนยังยึดพื้นที่ 99.95%

กรมวิทย์เผย พบสายพันธุ์ไฮบริด เดลตาครอน ในไทย 73 ราย ขณะที่ โอไมครอนครองพื้นที่ประเทศไทย 99.95%

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังโควิดข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-18 มีนาคม 2565 พบว่า ขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอไมครอน 99.95% หรือเกือบ 100% แล้ว โดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนทั้งหมด

หลบภูมิ

ส่วนการแยกสายพันธุ์โอไมครอนพบว่า สัดส่วน BA.2 มากที่สุดถึง 78.5% และ BA.1 อยู่ที่ 21.5% ซึ่ง BA.2 เพิ่มขึ้นจาก 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนั้นพบที่ 18.5%

ดังนั้น แทบทุกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น BA.2 แล้ว เห็นได้จากข้อมูล 13 เขตสุขภาพ ก้พบ BA.2 มากเกิน 50% ทั้งหมด ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 พบ 33.33% เนื่องจากยังตรวจตัวอย่างน้อยกว่าพื้นที่อื่น

ขณะที่สายพันธุ์ไฮบริด เดลตาครอนนั้น ขณะนี้มีรายงานข้อมูลในจีเสจประมาณ 4,000 กว่าราย แต่มีการวิเคราะห์สายพันธุ์ว่าเป็นเดลตาครอนจริง ๆ คือ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

ทั้งนี้ ในจำนวน 4,000 กว่าราย รวมถึงที่ประเทศไทยได้ซัปมิทข้อมูลไป 73 ราย แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อเดลตาลดลง โอกาสที่จะมารวมกันแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ผสมกันแล้ว

แต่ก็ต้องขึ้นกับเดลตาครอนที่มีอยู่ จะมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรหรือไม่ หากเกิดแพร่เร็วขึ้น ในอนาคตก็อาจครองแทนได้ แต่ตอนนี้ยังไม่พบเช่นนั้น ซึ่งก็ต้องจับตาต่อไป

สำหรับผู้ติดเชื้อเดลตาครอน 73 รายในไทย เป็นตัวอย่างที่เกิดในช่วงเดือน ธันวาคม 2564 และเดือน มกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของเดลตา และโอไมครอน ทำให้มีโอกาสเกิดพันธุ์ผสม หรือ Recombinant ได้ ซึ่งล่าสุดผู้ป่วยทั้ง 73 รายหายดีแล้ว

เดลตาครอน 1

กรณีสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน BA.2 และ BA.2.3 ข้อมูลในจีเสจ (Gisaid) ยังไม่มีการแอดไซน์เข้าไปในระบบ แต่ก็ทราบแล้วว่ามี เพียงแต่ต้องมีการติดตามข้อมูลให้เพียงพอ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยพบ BA.2.2 จำนวน 22 ราย เป็นในประเทศ 14 ราย และต่างประเทศ 8 ราย ส่วนสายพันธุ์ BA.2.3 จำนวน 61 ราย เป็นในประเทศ 27 ราย และต่างประเทศ 34 ราย

ดังนั้น สรุปข้อมูล ณ ขณะนี้ โอไมครอน คุณสมบัติหลบภูมิค่อนข้างดี อย่างคนที่ติดเชื้อเดลตามาแล้ว 4-5 เดือนก่อน ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอไมครอนซ้ำ ซึ่งวัคซีนหากฉีด 2 เข็ม และฉีดนานพอสมควร ภูมิต้านทานจะตกลง ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ต้องฉีดเข็มกระตุ้น

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า นี่คือเหตุผลที่ต้องรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เพราะข้อมูลเสียชีวิตทุกวันนี้จากโควิดส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม 608

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo