COVID-19

‘เตือนภัยโควิดระดับ 4’ ทั่วประเทศ ผู้ติดเชื้อจ่อพุ่งต่อเนื่อง พบ ‘วัยเรียน-ทำงาน’ ป่วยมากสุด

“กระทรวงสาธารณสุข” เตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ รับมือแนวโน้มติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น หวั่นนำเชื้อสู่ “ผู้สูงอายุ-กลุ่มเปราะบาง” ทำให้ป่วยหนักมากขึ้น  ชี้กว่า 90% เป็นสายพันธุ์โอไมครอน “วัยเรียน-ทำงาน” ติดมากสุด 

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มจะยังคงตัวในระดับสูงอยู่  โดยกว่า 90% ของผู้ติดเชื้อโควิดเป็นสายพันธุ์โอไมครอน

เตือนภัยโควิดระดับ 4

จากข้อมูลในช่วงวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 53% ไม่มีอาการป่วย ส่วนอีก 47% มีอาการป่วยเล็กน้อย คือ เจ็บคอ ไอ และมีไข้ต่ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ความรุนแรงของเชื้อโควิดจะลดลง แต่หากปล่อยให้มีการติดเชื้อมากขึ้น โอกาสในการนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเปราะบางที่มีโรคประจำตัว ก็มีโอกาสที่จะป่วยหนักมากขึ้น โดยกลุ่มที่พบการติดเชื้อมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มวัยเรียน วัยทำงาน ที่เริ่มมีการรวมตัวสังสรรค์ ผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

เตือนภัยโควิดระดับ 4

หากประชาชนมีอาการ แม้จะเล็กน้อย หรือมีความเสี่ยง ขอให้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และกักตัว เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง ในขณะเดียวกัน จากผลการศึกษาระบุว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอต่อการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ดังนั้น หากประชาชนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มาเกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้มารับวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต

“ไม่ว่าจะเป็นโควิดสายพันธุ์อะไร วิธีการป้องกันการติดเชื้อเหมือนกันหมด ใส่แมสก์ ล้างมือ เว้นระยะห่าง แม้สายพันธุ์นี้จะมีความรุนแรงต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่อยากให้มีการติดเชื้อเยอะ ๆ เพราะจะนำไปสู่กลุ่มเปราะบางได้ ดังนั้น ขอความร่วมมืองดการรวมกลุ่มสังสรรค์ให้มากขึ้น ด้านเตียง ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ขณะนี้มีเพียงพอรองรับทุกอย่าง”

เตือนภัยโควิดระดับ 4 ยกระดับทุกจังหวัดเสี่ยงสูง

ทางด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้เป็นการเตือนภัยโควิดระดับ 4 โดยยกระดับจังหวัดเสี่ยงสูงเป็นทุกจังหวัด

พร้อมขอความร่วมมือ งดเข้าสถานที่เสี่ยง (เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต) เลี่ยงการรวมกลุ่ม ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ และทำงานที่บ้าน เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 13-19 ก.พ.) พบการติดเชื้อกระจายไปทั่วประเทศแล้ว โดยอัตราการติดเชื้อต่อประชากร 1 แสนคน พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 คน

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยเสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว และคนที่รู้จักขณะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กินอาหารร่วมกันกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนนักเรียน เล่นกีฬา รวมทั้งกิจกรรมงานบุญ งานศพ งานแต่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนล่าง

เตือนภัยโควิดระดับ 4

สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังคงเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ที่ไม่ใด้รับวัคซีน รวมทั้งที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ให้เน้นตรวจคัดกรองหาเชื้อในกลุ่มผู้ดูแล รวมทั้งติดตามกำกับการใช้มาตรการ VUCA ในศูนย์ดูแลผู้สูงวัยอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ยังพบการระบาดลักษณะคลัสเตอร์ จากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบุญ ซึ่งขาดการกำกับมาตรการป้องกันโรคที่ดีของผู้จัดงาน หรือจัดกิจกรรม

การระบาดในสถานที่ทำงาน ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการที่มีบุคลากรติดเชื้อจากครอบครัว หรือชุมชน และแพร่โรคต่อให้เพื่อนร่วมงาน จากการไม่ระมัดระวังตัวขณะถอดหน้ากากรับประทานอาหาร และพูดคุยโดยไม่สวมหน้ากาก

ในขณะเดียวกัน ยังพบว่า ขาดมาตรการควบคุมกำกับ Universal Prevention (UP) โดยเจ้าของกิจการ พบในหน่วยงานราชการ สถานพยาบาล ร้านอาหาร ค่ายทหาร โรงงาน พบการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (Healthcare workers: HCW) โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากชุมชน ครอบครัว และในสถานพยาบาล โดยเน้นให้ผู้บริหารสถานพยาบาลควบคุมกำกับงาน IC (ระบบควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล) และมาตรการป้องกันโรค UP กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด

สำหรับการคาดการณ์ฉากทัศน์ของโรคโควิด-19 ในไตรมาส 1/65 ขณะนี้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น โดยเกินระดับกลางที่คาดการณ์ไว้แล้ว เนื่องจากประชาชนละเลยมาตรการ VUCA มากขึ้น

เตือนภัยโควิดระดับ 4

จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดอยู่ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งมีอาการน้อย

นพ.จักรรัฐ ได้กล่าวถึงโควิดสายพันธุ์โอไมครอนว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ต่างจากโอมิครอน BA.1 เรื่องอาการป่วยหนัก และอาการรุนแรง โดยมีรายงานว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1 กว่า 1.4 เท่า

อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละประเทศ หากประชาชนในประเทศไทย สามารถปฎิบัติตามมาตรการต่าง ๆ และฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มมากขึ้นได้

ขณะที่ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ สธ. กล่าวถึงสถานการณ์ และการบริหารจัดการเตียงในกทม. ว่า จากวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรคโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี ยังมีเตียงในระบบรองรับเพียงพอ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยอาการหนักยังอยู่ในระดับทรงตัว และการรักษาเน้นการรักษาระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เป็นลำดับแรก ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง

เตือนภัยโควิดระดับ 4

สำหรับสถานการณ์เตียงทั่วประเทศขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 173,000 เตียง มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 50% ส่วนใหญ่เป็นเตียงสีเขียว ดังนั้นถือว่ายังมีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ส่วนผู้ป่วยเด็กอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป สามารถรักษาแบบ HI ได้ โดยประสานไปที่โทร. 1330

ส่วนความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ของ HI ในกทม. สามารถรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ถึง 5,540 คน/วัน ในขณะเดียวกัน CI มีทั้งหมด 31 แห่ง เตียง 3,981 เตียง มีการครองเตียง 2,065 เตียง นอกจากนี้อยู่ระหว่างเตรียมเปิด CI อีก 9 แห่ง รวม 970 เตียงด้วย

“ขอความร่วมมือประชาชน ดูแลป้องกันตนเอง ปฏิบัติตนตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข รับการฉีดวัคซีน ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ถ้ามีผล ATK เป็นบวกไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ สามารถเข้าสู่ระบบการรักษา โทร 1330 ได้เลย”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo