COVID-19

ยืนยัน ‘ปลอดภัย’ ก่อนคิกออฟฉีดวัคซีน ‘ฝาส้ม’ เด็ก 7 กลุ่มเสี่ยง พรุ่งนี้ !

ก่อนคิกออฟฉีดวัคซีน ‘ฝาส้ม’ ให้กับเด็ก 5 – 11 ปี 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ทำความเข้าใจขั้นตอนอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ปกครอง ยืนยัน ‘ปลอดภัย’

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่หเลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายเหตุผลของการฉีดวัคซีนในเด็กว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก แต่จะมีปัญหาแทรกซ้อนเวลาติดโควิด-19 แล้ว 1 เดือนให้หลังเด็กอาจมีอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ที่เรียกว่า MIS-C ซึ่งอาจรุนแรงได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า

pvc 1

มีรายงานจากทั่วโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้การรับรองวัคซีนไฟเซอร์เอาไว้แล้ว โดยวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้สำหรับเด็กจะไม่เหมือนวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้กับผู้ใหญ่ วัคซีนไฟเซอร์ของเด็กจะมีฝาสีส้ม ฉีดในปริมาตร 0.2 ซีซี เพื่อปลอดภัย ย้ำว่าไม่ต้องกังวลการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในอเมริกาฉีดเด็กไปเกือบ 9 ล้านคนแล้วไม่มีปัญหา นอกจากแขนบวมนิดหน่อยและไม่เกิน 2 วันอาการก็หายหมด

ส่วนข้อมูลวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ยังไม่มีข้อมูล ขณะที่อย.ก็ยังไม่ให้การรับรอง การฉีดวัคซีนในเด็กจำเป็นและต้องรอข้อมูลที่ปลอดภัย ควรฉีดวัคซีนที่มีการรับรองจาก อย. และเป็นไปตามคำแนะนำ

ขั้นตอนฉีดวัคซีนเด็กมีโรคประจำตัว

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กล่าวว่า เด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ปัจจุบันมีประมาณ 5 ล้านคน จำนวนนี้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค มีประมาณ 9 แสนคน โดยแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัวจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง

โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม. จะบริหารวัคซีนตามความเหมาะสมของจำนวนเด็กที่ผู้ปกครองยินยอม ตามจำนวนวัคซีนที่รับการจัดสรร และตามความพร้อมของบุคลากร รวมถึงกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลแต่ละจังหวัด

LINE ALBUM วัคซีนโควิดรพ 2.สนาม ๒๒๐๑๑๗ 2

ขั้นตอนการฉีดเด็กที่มีโรคประจำตัว มี 4 ขั้นตอน คือ

1.คัดกรอง โดยเด็กสามารถรับประทานยาโรคประจำตัวได้ตามปกติที่แนะนำ รับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ กุมารแพทย์จะประเมินว่า เด็กที่มีโรคประจำตัวมีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ ซึ่งหลักๆ มี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ขณะป่วยมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายดีก่อน ชะลอหรือเลื่อนการฉีด จนกว่าจะเป็นปกติ หรือ สอง เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาการไม่คงที่ อาจชะลอไปก่อน ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน

2.ลงทะเบียนยืนยันการฉีดอีกครั้ง โดยเซ็นใบยินยอมว่าทบทวนดีแล้ว

3.การฉีดวัคซีน ซึ่งในผู้ใหญ่ให้จัดสถานที่โล่ง แต่ในเด็กเล็กหรืออนุบาล ซึ่งบางทีเมื่อเห็นเด็กคนไหนฉีดแล้วมีการร้อง อาจจะเกิดผลด้านจิตใจ เกิดอุปาทานหมู่ ยอมรับฉีดยากขึ้น ดังนั้น ขอให้จัดฉีดในสถานที่มิดชิด มีฉากกั้น ม่านกั้น หรือเป็นห้อง จะช่วยลดการกังวลของเด็ก

4.หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านไปแล้ว 1 สัปดาห์ไม่ควรออกกำลังกาย ปีนป่าย ว่ายน้ำ ที่ต้องใช้แรง ขอให้ช่วยกันดูแลตรงนี้

ส่วนข้อกังวลอาการข้างเคียงด้านหัวใจ ตามรายงานมีจริง แต่ทุกรายสามารถรักษากลับสู่ปกติได้หมด แต่เพื่อความไม่ประมาท ให้ผู้ปกครองเบาใจ จึงมีการจัดระบบเครือข่ายการส่งต่อดูแล โดยหากเด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการสงสัยใน 2 กลุ่มโรค ให้รีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อประเมินอาการ กล่าวคือ

1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ซึ่งตามสถิติมักพบในช่วงวันที่ 2 ของการฉีด แต่หากเกิดในวันแรกก็พามาได้เช่นกัน

2.กลุ่มอาการอื่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียน ทานอะไรไม่ได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว

ถ้ามีอาการสงสัยใน 2 กลุ่มโรค ให้ไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งจะมีกุมารแพทย์กระจายทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย ในทุกจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอหลายแห่งมีกุมารแพทย์ที่สามารถประเมินอาการได้ว่าสามารถรักษาตรงนั้น หรือต้องส่งต่อระดับโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งหากยังเกินศักยภาพก็สามารถส่งมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

นพ.อดิศัย กล่าวว่า การคิกออฟฉีดวัคซีนเด็กเล็กที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ วันที่ 31 ม.ค.นี้ จะเริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเรามีคนไข้ของเราเอง 4,000 คน มีแผนฉีดแล้วโดยจะทยอยฉีด ไม่แออัดมาก ก่อนฉีดจะมีพยาบาลแต่ละหน่วยงานโทรไปหา ให้คำปรึกษา ข้อมูล และสอบถามความสมัครใจของผู้ปกครอง

และหลังฉีดมีคิวอาร์โคดประเมินผลข้างเคียง และช่องทางให้ความรู้เรื่องการดูแลหลังฉีดถ้ามีผลข้างเคียง และเนื่องจากเรามีผู้ป่วยเด็กจากหลายจังหวัดก็สามารถเขืที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อนได้ หรือถ้ามาโดยตรงที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีก็ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo