COVID-19

โควิดกทม.ยังน่าห่วง! ร้านอาหารกึ่งผับ-หอพักติดเชื้อสูง แนะเลี่ยงสถานที่เสี่ยง

“กระทรวงสาธารณสุข” เผยสถานการณ์โควิดกทม.น่าห่วง! พบสถานที่ปิด ร้านอาหารกึ่งผับ หอพักนักศึกษาและแฟลตตำรวจแนวโน้มติดเชื้อสูง

นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ว่า วานนี้ (13 ม.ค.) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 8,167 ราย รักษาหาย 3,845 ราย และเสียชีวิต 14 ราย เฉพาะพื้นที่ กทม. รายงานติดเชื้อ 939 ราย เสียชีวิต 3 ราย และรักษาหาย 300 กว่าราย การติดเชื้อกระจายทุกกลุ่มอายุและทุกเขต

โควิดกทม

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อสูง คือ

  1. พื้นที่เสี่ยงและแหล่งชุมชน คือ สถานที่ปิด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารกึ่งผับที่มีการระบายอากาศไม่ดี โดยพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 รายในทุกคลัสเตอร์ และที่เริ่มพบมากขึ้น คือ หอพักนักศึกษาและแฟลตตำรวจที่มีความแออัด
  2. กลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือพบผู้ป่วยยืนยัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.มีการระบาดและแนวโน้มตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ

โควิดกทม
นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์

1. ร้านอาหารกึ่งผับ ซึ่งร้านที่เปิดได้นั้นจะผ่านการประเมินและได้รับใบรับรอง โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กทม.จัดทีมเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่สุ่มตรวจมาตรฐาน SHA+ และ COVID Free Setting หากเป็นไปตามข้อร้องเรียนจะให้ปิดปรับปรุง แต่ถ้าเกิดเป็นกลุ่มก้อนหรือเกิดซ้ำก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะเพิกถอนการรับรองมาตรฐาน

2. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า ส่วนใหญ่รับเชื้อจากชุมชนและบุคคลใกล้ชิด ไม่ได้รับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้ว อาการจึงไม่รุนแรง และสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นกระทบการรักษาพยาบาล โดยคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ได้ทำจดหมายไปยังสถานพยาบาลทุกแห่งเน้นย้ำให้เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วยสงสัยโควิด 19 เนื่องจากไม่อยากให้มีการติดเชื้อในสถานพยาบาล

โควิดกทม

3. กลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการติดเชื้อใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นมา ยังมาจากผู้อาศัยแถบปริมณฑล เมื่อป่วยแล้วพยายามเข้ามารักษาใน กทม. และบริษัทห้างร้านรอบ ๆ กทม. ที่มีสัญญาดูแลรักษาสถานพยาบาลเอกชน ก็จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามาใน กทม.ด้วย

“คำแนะนำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ คือ หลีกเลี่ยงสถานที่ระบายอากาศไม่ดี สถานที่แออัด งดร่วมกิจกรรมเป็นเวลานานที่ไม่สวมหน้ากาก เช่น วงเหล้า ชะลอการเดินทางหากไม่จำเป็น หากกลับต่างจังหวัดสังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน หากมีอาการสงสัยให้รีบตรวจ ATK และหากผลเป็นบวกให้ประสาน 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) และเร่งไปฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดย กทม.เปิดพื้นที่บริการ 20 กว่าจุด ส่วนสถานประกอบการขอให้ทำตาม COVID Free Setting” นพ.สุทัศน์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo