COVID-19

‘หมอเฉลิมชัย’ ชวนจับตา ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ‘B.1.X’ หวั่นก่อโรครุนแรง-ดื้อวัคซีน

“หมอเฉลิมชัย” จับตาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด B.1.X เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่หนาม อาจกระทบกับความรุนแรงของการก่อโรคได้

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เผยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด B.1.X ต้องจับตามอง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่หนาม อาจกระทบกับความรุนแรงของการก่อโรคได้ โดยสรุปเรื่อง 14 เรื่องน่าสนใจ ดังนี้

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่

1. โควิดเกิดจากไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว (RNA)

2. ไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเดี่ยว จะมีการกลายพันธุ์ได้บ่อยและง่ายกว่าสิ่งมีชีวิตที่เป็นสารพันธุกรรมคู่ (DNA)

3. ไวรัสโคโรนา มีการกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 1000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย

4. ไวรัสสายพันธุ์ที่สำคัญ เรียกว่าไวรัสที่ต้องเป็นห่วงกังวล (VOC : Variant of Concern) ประกอบด้วย 4 สายพันธุ์ คือ

4.1 อัลฟาของอังกฤษ

4.2 เบตาของแอฟริกาใต้

4.3 แกมมาของบราซิล

4.4 เดลตาของอินเดีย

5. ไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด จะใช้ส่วนหนามหรือเอสโปรตีน (S-protein) ในการก่อโรค โดยเกาะเข้าเซลล์มนุษย์

6. ไวรัสกลายพันธุ์ที่ผ่านมาในอดีต จะเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมในหลายตำแหน่ง แต่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงตรงตำแหน่งที่เป็นหนาม

7. ไวรัสกลายพันธุ์ครั้งใหม่ ที่พบที่ ฝรั่งเศส ชื่อว่า B.1.X หรือ B.1.640 นี้มีความสำคัญ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนาม ซึ่งไม่เคยพบในการกลายพันธุ์ของไวรัสมาก่อน จะส่งผลให้การแพร่ระบาด ความรุนแรง และการดื้อต่อวัคซีน อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยสำคัญ

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการรายงานโดยสื่อของฝรั่งเศส พบในนักเรียน 24 ราย ในภูมิภาค Brittany และขณะนี้ทางการฝรั่งเศสสามารถควบคุมการระบาดไว้ได้ แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป(เหตุเกิดเมื่อ 26 ตุลาคม 2564)

ไวรัส

9. พบไวรัสสายพันธุ์นี้ ในอีกบางประเทศของยุโรป ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ไวรัสเดลต้ายังคงเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศดังกล่าว

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ กลายพันธุ์ตำแหน่งใหม่

10. Prof. C.Cohen จาก Bar Ilan University อธิบายว่า เหตุที่ต้องให้ความสนใจไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นพิเศษ เพราะเกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยเป็นการขาดหายไปของสารพันธุกรรมในส่วนที่ทำให้เกิดหนาม ซึ่งอาจจะส่งผลให้ติดเชื้อง่ายขึ้น หรือยากขึ้นก็ได้ ต้องศึกษาต่อไป

11. เชื่อว่าต้นกำเนิดของไวรัสสายพันธุ์นี้ มาจากแอฟริกา จึงเป็นจุดกระตุ้นให้ชาวโลกจะต้องมาสนใจเรื่องความเสมอภาคในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด (Equality)

12. เหตุเพราะไวรัสกลายพันธุ์นั้น จะเกิดขึ้นง่ายและบ่อย ถ้ามีการเพิ่มจำนวนของไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเกิดในภูมิภาคที่มีการติดเชื้อแพร่ระบาดสูงนั่นเอง

13. โลกเราทุกวันนี้ มีการฉีดวัคซีนไปแล้วหลายพันล้านโดส แต่เกือบทั้งหมดฉีดในประเทศรายได้ปานกลางและประเทศร่ำรวย

ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศยากจน มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วเพียง 6% จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะเกิดไวรัสกลายพันธุ์ เนื่องจากมีการระบาดหรือไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไวรัสเหล่านั้น ก็สามารถย้อนกลับมายังประเทศที่ฉีดวัคซีนครบแล้วได้

14. ความคิดเห็นของผู้เขียนคือ หน่วยงานในระดับโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือองค์การอนามัยโลก ควรจะประสานกับผู้นำของประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน จนได้ข้อยุติร่วมกัน ในการจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่

และให้ทุกรัฐบาลหรือทุกบริษัทที่ผลิตยาหรือวัคซีนที่มีรายได้สูง ส่งเงินจำนวนเล็กน้อยของยอดขายเช่น 0.1% เข้ามายังกองทุนดังกล่าว

เพื่อที่กองทุนดังกล่าว จะจัดสรรงบประมาณไปจัดซื้อยา วัคซีน หรือเวชภัณฑ์สำหรับโรคระบาดร้ายแรง เพื่อช่วยให้ประเทศยากจน สามารถได้รับวัคซีนหรือยารักษาโรค ได้รวดเร็วทันท่วงที และมีปริมาณที่ครอบคลุมประชากรได้เพียงพอ

ไม่ใช่การขอรับบริจาค หรือจัดสรรโครงการแบบ COVAX ซึ่งก็จะไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ดังที่เห็นตัวอย่างในปัจจุบัน ของการกระจายวัคซีนโควิดให้กับประเทศยากจน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo