COVID-19

ยกระดับคุมเข้มตลาด!! หากพบผู้ติดเชื้อเกิน 10% ต้องปิดตลาด 14 วัน

“อธิบดีกรมอนามัย” ประกาศยกระดับคุมเข้มตลาดพื้นที่สีแดงเข้ม หลังพบคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่อง ชี้ถ้าพบผู้ติดเชื้อเกิน 10% ต้องปิดตลาด

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาด เนื่องจากมักพบการแพร่ระบาดในบริเวณสถานที่ที่มีผู้คนมารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดในตลาดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-10 สิงหาคม ตลาดจำนวน 132 แห่ง จากทั้งหมด 23 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 14,678 ราย และจากการสำรวจพื้นที่ตลาดกว่า 70% ไม่ได้มีการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC)

คุมเข้มตลาด

ดังนั้น จึงมีการยกระดับมาตรการเพื่อป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในตลาดพื้นที่สีแดงเข้ม โดยเน้นการดำเนินการ 3 ด้าน คือด้านบุคคล สถานที่ และชุมชน

มาตรการป้องกัน  ดังนี้

1. ป้องกัน “คน” ได้แก่ ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก ผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบ และผู้ซื้อที่เข้าใช้บริการทุกคน โดยมีมาตรการหลัก คือ ไม่มีอาการสงสัยการติดเชื้อ ไม่มีประวัติเสี่ยง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนมาตรการเสริม คือตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุกสัปดาห์ทุกคนตามความพร้อม หรือสุ่มตรวจ 10% มีหลักฐานแสดงก่อนเข้าตลาด โดยต้องตรวจไม่เกิน 7 วัน หรือฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีหลักฐานแสดงก่อนเข้าไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือเคยติดเชื้อหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องมีหลักฐานแสดงก่อนเข้า ว่าทำการแยกกักกันไม่น้อยกว่า 14 วัน

2. ป้องกัน “สถานที่ (ตลาด)” ด้วยประเมินการปฏิบัติตามแนวทางฯ ด้วย TSC+ (Thai Stop Covid Plus) พร้อมปรับปรุงหากเกิดปัญหา, จัดจุดเข้า-ออกทางเดียวหรือน้อยลง พร้อมตรวจคัดกรองคน จัดคนควบคุมกำกับ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A โดยเคร่งครัด จัดระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ไม่แออัด เว้นระยะห่าง มีการระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาดทำลายเชื้อ (ทุกวัน บริเวณพื้นผิวสัมผัสทุก 1 ชม. หรือทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น) และจัดระบบเพื่อลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด มีระบบ drop in/drop out ห้ามรวมกลุ่มพูดคุยหรือมีกิจกรรมเสี่ยง ทานอาหารแต่ละคนในพื้นที่ที่จัดให้มีการใช้วิธีจ่ายเงินดิจิทัล หรือมีระบบอื่นที่ลดการสัมผัสสิ่งของระหว่างกัน

คุมเข้มตลาด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

3. จัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ด้วยการสุ่ม “เฝ้าระวังเชิงรุก” (ตามลักษณะตลาด) ทั้งตรวจคน และตรวจสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นผิว ผลิตภัณฑ์ น้ำเสีย มี “แผนเผชิญเหตุ” พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและซ้อมแผน โดยเกณฑ์การดำเนินการ เป็นไปตามสถานการณ์การระบาด ลักษณะของตลาด และบริบทของผู้คนในและรายรอบตลาด จัดเตรียม “โรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกัก/กักกัน” รองรับกรณีพบผู้ติดเชื้อ หรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก และประยุกต์ “การควบคุมกลุ่มและการเดินทางไปกลับ” ของคนในตลาด (bubble group and seal route) ตามบริบทของตลาดและพื้นที่ เป็นลักษณะกลุ่มตามการทำงานหรือกิจกรรมการค้า ครอบคลุมการเดินทางและที่พัก

ติดเชื้อมากกว่า 10% ต้องปิดตลาด

“หากพบ 1 รายให้ปิดเฉพาะแผงค้า หยุดทำความสะอาดพร้อมกับค้นหาผู้ติดเชื้อเสี่ยงสูง หากพบติดเชื้อมากกว่า 2 แผง มากกว่า 2 รายขึ้นไป ต้องค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งตลาด หากพบติดเชื้อไม่เกิน 10% จะหยุดทำความสะอาดและปรับปรุงสุขาภิบาล เน้นปิดแผงค้าที่ติดเชื้อให้ครบ 14 วัน เฝ้าระวังผู้คนที่ยังไม่พบการติดเชื้อ หากติดเชื้อมากกว่า 10% ต้องปิดตลาด 14 วัน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

คุมเข้มตลาด

ส่วนมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม คือ จังหวัดมอบหมายผู้รับผิดชอบ ควบคุม กำกับให้ตลาดปฏิบัติตามมาตรการทุก 7 วันโดยทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือสาธารณสุข (สธ.) ต้องมีการเฝ้าระวังพฤติกรรมตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของคนในชุมชนรอบตลาด, มีการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบตลาด และที่พักของแรงงานต่างด้าว และบันทึกผลผ่านระบบ Google Form

ทางด้านประชาชนผู้ใช้บริการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด วางแผนการซื้อสินค้าและใช้เวลาให้น้อยที่สุด ใช้วิธีทางเลือกในการสั่งสินค้า เช่น APP จ่ายตลาด.COM และประเมินการปฏิบัติตามมาตรการของตลาด

“แนะนำว่าเมื่อซื้ออาหารกลับมาที่บ้านแล้ว ควรเปลี่ยนภาชนะเป็นภาชนะของที่บ้านเพื่อความปลอดภัยจากการปนเปื้อนของเชื้อ และไม่แนะนำให้ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ลงบนพื้นผิวอาหาร แม้สเปรย์นั้นจะได้รับการรับรองว่าสามารถใช้กับอาหารได้ แต่ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 บนอาหารได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo