COVID-19

ทำความรู้จัก พินัยกรรมชีวิต หนึ่งในเรื่องสำคัญ วางแผนชีวิตระยะสุดท้าย ยุควิกฤติโควิด

พินัยกรรมชีวิต เรื่องควรทำยุคโควิด การวางแผนชีวิตช่วงสุดท้าย ในการรักษาพยาบาล กรณีไม่สามารถสื่อสารด้วยตนเองได้อีก เพื่อให้มีแนวทางการดูแลที่ชัดเจน ตรงตามความต้องการที่แท้จริง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเอง และครอบครัว กับวิกฤติโควิด ที่ยังคงรุนแรง ภาพที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ภาวะโคม่า การเสียชีวิตที่ไม่ได้คาดหมาย เป็นข่าวแต่ละวัน ทำให้ การทำพินัยกรรมชีวิต เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อวางแผนเรื่องการเสียชีวิต รวมถึงการรักษาพยาบาลตนเอง ได้อย่างชัดเจน และเห็นภาพชัดที่สุด

พินัยกรรมชีวิต

ในประเทศไทย วงการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับทราบปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตัดสินใจการรักษาพยาบาลระยะสุดท้ายมาเป็นเวลานาน จนเมื่อปี 2550 จึงมีกฎหมายที่ให้สิทธิ์คนไทยแสดงเจตนา เกี่ยวกับการเสียชีวิตของตนเองในมาตรา 12 ของ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

พระราชบัญญัติดังกล่าว ระบุไว้ชัดเจนว่า ทุกคนสามารถทำหนังสือที่เขียนขึ้น เพื่อแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าให้คนอื่นทราบว่า ตนเองไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน เช่น ไม่ต้องการใส่ท่อช่วยหายใจในกรณีที่สมองตายแล้ว ไม่ต้องการเจาะคอเพื่อให้อาหาร ต้องการกลับไปรักษาแบบประคับประคองที่บ้าน เป็นต้น

ที่สำคัญคือ สามารถแสดงเจตนาว่าต้องการให้ผู้ใดเป็น “ผู้ตัดสินใจแทน” ในกรณีที่หมดสติ ซึ่งระบุให้เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกันในครอบครัว เช่น ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ลูกกัน เป็นต้น

หนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว ถูกเรียกเป็นภาษาไทยว่า “พินัยกรรมชีวิต” (Living Will) ซึ่งเป็นหนังสือแสดงเจตนารมณ์ ว่าต้องการจะเสียชีวิตแบบไหน มีผลในช่วงสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต และไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการส่งต่อทรัพย์สิน

พินัยกรรมชีวิต

Living Will จึงเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนชีวิตช่วงสุดท้าย เรื่องการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่จะสื่อสารกับครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ ในกรณีที่ไม่สามารถสื่อสารหรือแสดงเจตนาเหล่านั้นด้วยตนเองได้อีก เพื่อให้เข้าใจ มีแนวทางการดูแลที่ชัดเจน ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของเจ้าตัว

รูปแบบการทำพินัยกรรมชีวิต

  • ทุกคนสามารถทำได้เมื่อมีอายุ 18 ปี และมีสติสัมปชัญญะ สามารถเขียนหรือพิมพ์ได้
  • ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถทำขึ้นได้ด้วยตนเอง เช่น เขียนด้วยลายมือ เขียนในสมุด เขียนในแบบฟอร์มของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นต้น
  • เขียนแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงหรือเขียนใหม่ได้ โดยต้องระบุวันที่ไว้ด้วย โดยกฎหมายจะถือฉบับที่แก้ไขครั้งสุดท้ายเป็นสำคัญ
  • ไม่ใช่การุณยฆาต หรือการอนุญาตให้เร่งการตาย หรือการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วเข้า (Active Euthanasia)
  • ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ในกรณีที่ยังรักษาได้ ต้องรักษากันไปตามปกติ
  • ไม่ใช่การทอดทิ้งผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อให้จากไปอย่างสงบ
  • ช่วยวางแผนเรื่องอื่น ๆ นอกจากเรื่องทางการแพทย์ เช่น ต้องการพบใคร ต้องการการเยียวยาจิตใจแบบไหน ต้องการเสียชีวิตที่ไหน เป็นต้น
  • เมื่อทำเสร็จแล้วให้เซ็นชื่อ มีพยานหรือไม่ก็ได้ แล้วเก็บฉบับจริงไว้กับตัว โดยถ่ายสำเนานำไปแนบไว้ในเวชระเบียน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์รับทราบ และทำตามความต้องการดังกล่าว
  • สามารถระบุผู้ใกล้ชิดที่จะเป็นผู้ตัดสินใจแทนได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือสื่อสารไม่ได้ กรณีมีเรื่องสำคัญต้องตัดสินใจ นอกเหนือจากที่ระบุไว้

shutterstock 377423653

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ แพทย์มักจะให้ญาติใกล้ชิดเรียงตามลำดับ เป็นผู้ที่จะตัดสินใจแทน เช่น ถ้ากรณีมีสามีหรือภรรยา จะได้สิทธิ์ตัดสินใจเป็นลำดับแรก รองลงมาคือพ่อแม่ หรือกรณีผู้สูงอายุ ผู้ตัดสินใจมักเป็นบุตรของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยไม่ได้เรียงลำดับญาติไว้ ดังนั้น แพทย์ส่วนใหญ่จะถามญาติที่มาส่งผู้ป่วย หรือญาติที่เฝ้าผู้ป่วยอยู่ว่า มีอำนาจตัดสินใจแทนญาติทุกคนหรือไม่ หากไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้ แพทย์มักแนะนำให้พาญาติที่มีอำนาจร่วมตัดสินใจมาพบแพทย์ด้วย

ในภาวะที่ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จึงบน่าจะเป็นเรื่องดี หากเราได้วางแผนชีวิตระยะสุดท้ายไว้ก่อน และมอบให้คนที่ไว้ใจ เป็นผู้ตัดสินใจแทนทางสุขภาพ จึงจะเป็นการกล่าวได้ว่า ชีวิตของเราเราได้เลือกเองอย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูล: ธนาคารไทยพาณิชย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo