COVID-19

ทำไม ‘คนอ้วนมาก’ ติดโควิด-19 จึงเสี่ยงสูง ‘ป่วยหนัก-เสียชีวิต’

“หมอประกิต” ไขข้อข้องใจ ทำไมคนอ้วนมาก ติดโควิด-19 จึงเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตมาก จาก 3 ปัจจัย พร้อมแนะนำวิธีระมัดระวังป้องกันตัวเอง

ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โพสต์ทวิตเตอร์ “Prakit Vathesatogkit @DrPrakit_ASH” เคลียร์ข้อสงสัย คนอ้วนมาก ติดโควิด-19 มีความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตมาก จาก 3 ปัจจัยหลัก จนจัดเป็นกลุ่มเร่งด่วน ที่ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับคนที่อายุเกิน 60 ปีหรือมีโรคเรื้อรัง 7 โรค ดังนี้

คนอ้วนมาก ติดโควิด-19

“ทำไมคนที่อ้วนมาก ติดโควิด-19 จึงเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตมาก

ในช่วงแรก ๆ ที่มีการระบาดของโควิด-19 พบว่า คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคปอดเรื้อรัง สูบบุหรี่ และอายุเกิน 60 ปี เป็นกลุ่มที่จะมีอาการหนัก และเสี่ยงเสียชีวิต

ต่อมาข้อมูลจากประเทศอังกฤษ ในผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 300,000 คน พบว่า คนที่มีนำ้หนักเกิน เสี่ยงที่จะป่วยหนัก และเสียชีวิต เพิ่มขึ้นตามดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น แม้อายุจะยังไม่มาก และไม่มีโรคประจำตัวตัวอย่างอื่นก็ตาม

ผมขอความรู้จาก ผศ.พญ. ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ความว่า ถ้าใครมี ดัชนีมวลกาย (ซึ่งคำนวณโดย น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร ยกกำลัง 2) ถ้าเอาเกณฑ์ตามเชื้อชาติ ของเอเชีย มากกว่าหรือเท่ากับ 23 ถือเป็นน้ำหนักเกิน และมากกว่า หรือเท่ากับ 25 ถือว่าอ้วน และหากดัชนีมวลกายเกิน 30 ถือว่าอ้วนมากจนจัดเป็น “โรคอ้วน”

หลายท่านอาจจะไม่ถนัด ที่จะคำนวณดัชนีมวลกาย อาจารย์หมอดรุณีวัลย์แนะนำว่า น้ำหนักตัวที่พอดีของแต่ละคน คำนวณง่าย ๆ โดย ใช้ความสูงเป็นเซนติเมตร ลบด้วย 100 เช่น สูง 160 เซนติเมตร ลบ 100 = 60 กิโลกรัม

ดัชนีกาย

ถ้าเกินไปไม่มากกว่า 10 กิโลกรัม ถือว่าท้วมหรืออ้วนหน่อย ๆ แต่ถ้าเกินกว่า 10 กิโลกรัม เช่นสูง 160 เซนติเมตรแต่หนักเกิน 70 กิโลกรัม ถือว่าอ้วน และถ้าเกิน 75 กิโลกรัมถือว่าอ้วนมาก และหากยิ่งเกินกว่านั้น ยิ่งอันตรายมาก ๆ

เปิด 3 ปัจจัย คนอ้วนมาก ติดโควิด-19 เสี่ยงสูง

คนที่อ้วนมาก จะมี 3 ปัจจัยที่ทำให้เมื่อติดโควิด-19 แล้วจะมีอาการหนักคือ

1. คนที่อ้วนมาก มักจะมีโรคอื่นร่วมอยู่ด้วย เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคลดลง

2. คนที่อ้วนมาก มีภาวะที่ทำให้ปอดทำงานไม่ปกติ ปอดขยายตัวไม่ดีเหมือนคนที่นำ้หนักตัวปกติ ทางการแพทย์เรียกว่า Restrictive lung disease หรือ โรคที่ปอดถูกจำกัด(การขยายตัว) จากการที่มีไขมันแผ่นหนาพันรอบทรวงอก และการที่กระบังลมถูกไขมันหน้าท้องดันปอดขึ้นไปในทรวงอก ทำให้ปอดขยายตัวได้น้อยลง

เมื่อไวรัสโควิด-19 ลงปอด การขยายตัวที่ไม่ดี ทำให้สารคัดหลั่งจากการอักเสบ และเสมหะถูกขับออกจากปอดยากขึ้น ของเสียที่ขับออกได้น้อย และปอดที่ขยายได้น้อย จึงทำให้ปอดรับออกซิเจนได้น้อยลง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอัดออกซิเจนด้วยแรงดันสูงเข้าปอด

ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ
ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ

ต้องย้ำว่า โรคที่ปอดถูกจำกัดจากการถูกรัด จนทำงานได้น้อยกว่าปกติ เพราะอ้วนเกินไปนี้ เนื้อปอดเองไม่มีความผิดปกติ ในคนที่อ้วนจึงไม่ควรสูบบุหรี่เลย เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เนื้อปอดถูกทำลาย เพิ่มปัญหาจากปอดที่ถูกจำกัด รัดจากความอ้วนอยู่แล้ว

3. ภาวะอ้วนเอง ทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคของร่างกายทำงานลดลง จากไขมันที่ไปพอกอวัยวะภายในที่สร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ม้าม ต่อมไทมัส และไขกระดูก รวมทั้งเซลล์ไขมันยังหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งลดภูมิต้านทานด้วย

คนที่เป็นโรคอ้วนนี่แหละ เขาจัดเป็นกลุ่มเร่งด่วนที่ให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับคนที่อายุเกิน 60 ปีหรือมีโรคเรื้อรัง 7 โรค

คนที่น้ำหนักเกินโดยเฉพาะเกินไปมาก จึงต้องระวังตัวเป็นพิเศษ ที่จะไม่ให้ติดโควิด-19 ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง รีบไปฉีดวัคซีน พยายามลดน้ำหนัก และเลิกสูบบุหรี่เลิกกินเหล้า

ที่จะต้องทำความเข้าใจคือ แม้จะไม่มีการระบาดของโควิด-19 ภาวะอ้วนมาก จัดเป็นโรคอ้วน ที่จะมีโรครุมเร้า ตั้งแต่โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคมะเร็งหลายชนิด โรคอ้วนจึงเป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้คนเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนเวลาในลำดับต้น ๆ แล้ว”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo