COVID-19

เปิดผลศึกษาหลังฉีด ‘ซิโนแวค’ 4 กลุ่ม สู้อัลฟาได้ แต่ เดลต้า ต้องติดตามต่อ

เปิดผลศึกษา ฉีดซิโนแวค ภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย บุคลากรสาธารณสุข พบจัดการสายพันธุ์อัลฟา ได้จริง แต่เป็นผลศึกษาช่วง อัลฟา ระบาด เร่งติดตามต่อการฉีดในสายพันธุ์เดลตา

นพ.ทวีทรัพย์ ศีรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการใช้จริงของประเทศไทย ว่า จากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด จากการใช้จริงของประเทศไทย โดยศึกษา 4 กลุ่ม ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และ บุคลากรสาธารณสุข โดยพิจารณาจาก ประสิทธิผลการติดเชื้อ และประสิทธิผลการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง

ฉีดซิโนแวค

สำหรับการศึกษาวัคซีน ที่จัดทำขึ้นช่วงเดือน เมษายน-มิถุนายน พบว่า ส่วนใหญ่คนที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ จะเป็น ฉีดซิโนแวค และเป็นช่วงที่ สายพันธุ์อัลฟา ระบาด สรุปผลศึกษาได้ดังนี้

จังหวัดภูเก็ต

ช่วงเดือนเมษายน ที่มีการฉีดวัคซีน ขณะเดียวกันก็มีผู้ติดเชื้อ ได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และดูว่าใครได้รับวัคซีนแล้วและติดเชื้อบ้างหรือไม่ติดเชื้อ โดยจำนวนทั้งหมด 1,500 กว่ารายของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด พบติดเชื้อ 124 ราย ในจำนวนนี้ เมื่อมีการเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนจากภูเก็ตอยู่ที่ระดับร้อยละ 90.7

จังหวัดสมุทรสาคร

จากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีทั้งหมด 500 กว่าราย พบติดเชื้อ 116 ราย โดยเปรียบเทียบคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ใครติดเชื้อบ้างกี่เปอร์เซ็นต์ และเปรียบเทียบ คนที่ไม่ได้รับวัคซีนในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง และติดเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบพบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อพอ ๆ กัน คือร้อยละ 90.5

ซิโนแวค 1

จากข้อมูลของ 2 จังหวัดดังกล่าว พบว่าประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ขณะนั้นเป็นสายพันธุ์อัลฟา ไม่ใช่เดลตา จึงพบว่าประสิทธิผลดีพอสมควรในสนามจริงร้อยละ 90 การป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา ซิโนแวค สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

จังหวัดเชียงราย

เป็นพื้นที่พบการระบาด ในบุคลากรสุขภาพ มีการติดเชื้อ และตรวจบุคลากรที่มีความเสี่ยงไปเกือบ 500 ราย พบติดเชื้อ 40 ราย จึงมาดูว่า ใครติดเชื้อบ้าง แล้วใครติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบบ้าง ซึ่งครั้งนั้นเกิดช่วงเดือน มิถุนายน โดยยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา

ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบคนได้รับวัคซีน 2 เข็มครบ พบประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 88.8 และประสิทธิผลป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ร้อยละ 84.9

อย่างไรก็ตาม สำหรับจังหวัดเชียงราย มีบางส่วนได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1 เข็ม ครบ 14 วัน ซึ่งปกติแอสตร้าฯ จะฉีด 2 เข็มต้องห่างกันถึงประมาณ 10 สัปดาห์ โดยคนที่ได้รับแอสตร้าฯ 1 เข็ม 50 ราย พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ โดยประสิทธิภาพ 1 เข็มอยู่ที่ร้อยละ 83.8

ฐานข้อมูลบุคลากรสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค ได้ติดตามฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย เปรียบเทียบข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ พบว่าในเดือน พฤษภาคม การระบาดขณะนั้นยังเป็นอัลฟาอยู่ โดยประสิทธิผลการฉีดวัคซีน 2 เข็มอยู่ที่ร้อยละ 71 ส่วนเดือนมิ.ย. เริ่มมีการระบาดของเดลตา ซึ่งภาพรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 20-40 โดยพบประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 75

นพ.ทวีทรัพย์ ศีรประภาศิริ
นพ.ทวีทรัพย์ ศีรประภาศิริ

ข้อสรุปจากผลการศึกษาครั้งนี้ คือ วัคซีนทุกตัวปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แต่ประสิทธิผลของโคโรนาแวคในการใช้จริงได้ผลดีพอสมควร ในช่วงที่มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา

“แม้ขณะนี้จะมีการระบาดของเดลตา เราก็ติดตามต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าให้วัคซีนมีประสิทธิผลต่ำ แล้วมาเปลี่ยนการใช้วัคซีน แต่เราคาดการณ์ล่วงหน้าและปรับรูปแบบ เพราะผลทางห้องปฏิบัติการดูแล้วว่า หากใช้วัคซีนเชื้อตาย ประสิทธิผลอาจไม่สูงมาก แม้ข้อมูลจากสนามจริงยังไม่บ่งบอก ซึ่งต้องติดตามต่อไป”

ดังนั้น มาตรการในการฉีดวัคซีนของ สธ. และที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล จึงต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ ทั้งโคโรนาแวค และแอสตร้าฯ หรือวัคซีนอื่น ๆ ที่จะเข้ามา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลให้มากที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo