COVID-19

เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม!! เคลียร์ชัดคำสั่ง ‘ศบค.’ ล่าสุด เริ่มดีเดย์พรุ่งนี้

เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม!! “วิษณุ – ศบค.” เคลียร์ชัดเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดงได้ ไม่ได้ห้าม แต่ต้องมีความจำเป็น พร้อมแสดงหลักฐานฉีดวัคซีนแล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความชัดเจนข้อกำหนดที่ 27 เกี่ยวกับการเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือไม่ถึงขั้นห้าม แต่การเดินทางเข้าหรือออกพื้นที่สีแดงเข้มต้องแสดงหลักฐานความจำเป็นและมีด่านตรวจ หากแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนสองเข็มก็จะช่วยได้เยอะ และในข้อกำหนดระบุไว้ว่า อาจทำให้การเดินทางจะไม่ได้รับความสะดวกเหมือนที่ผ่านมา เวลาเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม และการตั้งด่านจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะกลัวการอพยพ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้มยังเดินทางได้ปกติ

เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม

เดินทางได้ หากจำเป็น

ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณี แนวทางปฏิบัติการ โดยในการเดินทางข้ามเขต จาก 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กทม. นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานีปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา หากจำเป็นต้องเดินทาง อาทิ การเดินทางเพื่อรับวัคซีนยังจังหวัดอื่นนั้น ถือว่าเดินทางได้ โดยที่การเดินทางเพื่อรับวัคซีนเป็นการเดินทางตามวัตถุประสงค์ด้านการสาธารณสุข และได้แจ้งไว้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยแล้ว โดยเฉพาะกรณีเป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ อาจพิจารณาเดินทางในช่วงกลางวันเพื่อไม่ให้ขัดต่อมาตรการห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับการอนุญาต มีใบอนุญาตที่เป็นรายกรณี

กรณีข้อกำหนด ข้อ 7 (5) สถานประกอบการนวดแผนไทยให้ปิดดำเนินการนั้น รวมถึงคลีนิกเสริมความงามหรือไม่ นายแพทย์ ทวีศิลป์ฯ กล่าวว่า เพื่อลดความสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะการสัมผัสจุดแพร่เชื้อซึ่งรวมถึงใบหน้าด้วยนั้น นับรวมคลีนิกเสริมความงามด้วย เพื่อลดการแพร่เชื้อตามวัตถุประสงค์ของข้อกำหนดฯ

เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

ในโอกาสนี้ โฆษก ศบค. ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการทำความเข้าใจต่อประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ประชาสัมพันธ์จังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นำชุดข้อมูลเหล่านี้ไปสื่อสารดูแลความเข้าใจ สื่อสารถึงประชาชน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ต้องการให้เกิดการดำเนินการเคร่งครัด และเป็นการล็อกดาวน์บางจุดเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เพื่อยังให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

พร้อมขอความร่วมมือ เพื่อร่วมกันป้องกันโรคให้สำเร็จได้ นอกจากรัฐแล้ว ผู้ประกอบการ และประชาชน มีส่วนสำคัญ หากร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะควบคุมเชื้อโรคที่มองไม่เห็นได้ “การควบคุมโรค คือการควบคุมคน” ทุกครั้งทราบดีว่าการประกาศจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ซึ่งจะกระทบถึงปากท้อง การดำเนินชีวิตประชาชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการเห็นความเสียหาย จึงขอความร่วมมือทุกคนร่วมกันอีกครั้ง และ ใน 14 วันข้างหน้านี้ หลัง 14 วัน หวังว่า จะได้พบกับข่าวดีร่วมกัน

เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม

การปฏิบัติในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

1. จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด (เฉพาะกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล)

  • กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะ Work From Home ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน
  • ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการได้ในห้วงเวลา 21.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
  • ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน โดยเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
  • สวนสาธารณะ สามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรม ตามประเพณี ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
  • สถานศึกษาใช้การเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

2. ให้บุคคลงดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี

3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค.ที่ได้มีประกาศ ไปแล้วก่อนหน้านี้

4. กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTTA) อย่างสูงสุด

5. ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ 1-4 ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับ สถานการณ์ต่าง ๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24, 25, 26) มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

6. ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อม ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 06.00 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้กรณีตรวจพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตามแห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

7. สถานศึกษาใช้การเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK