COVID-19

สธ. เปิดข้อมูล ‘สายพันธุ์อินเดีย’ เจอ 15 ราย ลั่น แอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันได้

สธ. เปิดข้อมูล สายพันธุ์อินเดีย พบ 15 ราย จากคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างหลักสี่ เผยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันครอบคลุม โควิดสายพันธุ์อินเดีย 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ. เปิดข้อมูล สายพันธุ์อินเดีย โดยจากการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่พบการแพร่ระบาดโควิด ที่แคมป์คนงานหลักสี่ และนำตัวอย่างทั้งหมด 61 ตัวอย่าง ตรวจหาสายพันธุ์ พบว่า ตรงกับสายพันธุ์อินเดีย 15 ตัวอย่าง หรือ 15 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี

สธ. เปิดข้อมูล สายพันธุ์อินเดีย

สำหรับผู่ป่วยโควิด สายพันธุ์อินเดียทั้ง 15 ราย ส่วนใหญ่อาการน้อย รักษาอยู่ใน รพ. โดยในจำนวน 15 ตัวอย่างดังกล่าว เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ส่วนอีก 3 คน เป็นผู้สัมผัสโรคร่วมบ้าน กับคนในแคมป์คนงาน จึงต้องมีการเร่งรัดสอบสวนควบคุมโรค

อย่างไรก็ตาม โรคโควิด เป็นเชื้อ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ อู่ฮั่น จนขณะนี้มีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เราให้ความสนใจ คือ 1. กลายพันธุ์แล้วมีการแพร่ระบาดง่ายขึ้น 2. กลายพันธุ์แล้วทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือง่ายขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น และ 3. กลายพันธุ์แล้วทำให้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ หรือป้องกันโรคไม่ดี

สำหรับสายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตามอง คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และเมื่อเช้ามีการพูดถึงสายพันธุ์สิงคโปร์ แต่ประเทศสิงคโปร์ปฏิเสธสายพันธุ์นี้ไปแล้ว

ทั้งนี้ โควิด 4 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการต่างๆ มีการถอดรหัสพันธุกรรม และรวบรวมข้อมูล และใช้หลักการทางระบาดวิทยาในการอ้างอิง ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ เนื่องจากระบาดรวดเร็ว มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์จีน และสายพันธุ์ดั้งเดิมเล็กน้อย ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ขณะนี้ระบาดมากในอินเดีย และพบในหลายประเทศ มีประเทศหนึ่ง ที่ถอดรหัสพันธุกรรม และพบ คือ อังกฤษ รอบบ้านของไทยคือ มาเลเซีย ส่วนที่ระบาดที่สนามบินซางฮี ในสิงคโปร์ ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่า เป็นสายพันธุ์อินเดีย

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ส่วนเมียนมาและกัมพูชา ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อว่ามีสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้น ประเทศไทยก็มีโอกาส ที่จะมีสายพันธุ์อินเดีย หลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาด ในประเทศไทย ซึ่งจะมีการจับตาอย่างใกล้ชิด

ขณะที่สายพันธุ์อินเดีย จากผลการศึกษาของ หน่วยงานพับพิบเฮลท์อิงแลนด์ จากประเทศอังกฤษ พบว่า สายพันธุ์อินเดีย ในเรื่องการแพร่กระจายโรค ไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนความรุนแรงของโรค ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า รุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ด้านการไม่ตอบสนองวัคซีนหรือดื้อต่อวัคซีน ก็พบว่า สายพันธุ์อินเดียไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนหลักที่ไทยจะใช้ คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย ในแคมป์คนงานก่อสร้างอิตาเลียนไทย เขตหลักสี่ ว่า เพิ่งได้รับรายงานว่ามีสายพันธุ์อินเดียเข้ามา แต่ยังไม่ได้รับรายงานในรายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ จะหารือร่วมกับ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา เรื่องนี้ต้องแจ้งยังบริษัทให้ดูแลคนงานมากกว่านี้

ส่วนวัคซีนที่ได้นำมาฉีดในประเทศไทยทั้ง แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคนั้น จากการสอบถามทีมแพทย์ยังให้ความมั่นใจว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยทั้ง 2 ชนิดยังป้องกันอาการหนัก และป้องกันการเสียชีวิตได้ เมื่อติดโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องให้ทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ชี้แจงอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo