COVID-19

จะช้าไปไหน!! หมอมนูญชี้ ถึงเวลา องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว ขนานใหญ่

องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว หมอมนูญชี้ ช้าหลายเรื่องไม่ทันการณ์ ล่าสุดกลับลำใหม่ แนะทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันโควิด-19

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ถึงการทำงานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว ครั้งใหญ่ ในการกลับลำ แนะทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จากเดิมที่เคยบอกว่าไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนมากพอ ว่าหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงคนไม่ป่วย ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย

WHO

โดยเปลี่ยนมาเป็นทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเวลาออกไปในที่สาธารณะ ในขณะที่คำประกาศใหม่ ถือว่าล่าช้าเกินไป เนื่องจากในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ได้มีการแนะนำให้ประชาชน สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องออกจากบ้านก่อนหน้านี้แล้ว

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ล่าช้า WHO เพิ่งเตือนถึงผลเสีย ของการฉีดพ่นน้ำยาเคมีกำจัดเชื้อโรคพื้นที่กว้างใหญ่นอกอาคาร บนทางเดิน ถนน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายต่อผู้สัมผัส สิ้นเปลืองไม่ได้ประโยชน์

องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว

องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว และเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต

ทางกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ก่อนหน้าองค์การอนามัยโลกแล้ว ย้อนหลังไป ค.ศ. 1997 WHO ออกแถลงการณ์การตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคในประเทศที่กำลังพัฒนา ทำไม่ได้ สิ้นเปลือง และเปล่าประโยชน์

ผมออกมาโต้แย้งในปีค.ศ.1998 ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องตรวจ เพราะถ้าไม่ทราบผลความไวต่อยา อาจให้ยารักษาไม่ตรงกับเชื้อ ทำให้เชื้อยิ่งดื้อยามากขึ้น แพร่ระบาดให้คนอื่นต่อไป ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยขณะนั้น ตอบว่า การแนะนำของผมขาดความรับผิดชอบ เพราะต้องดึงเงินจากงบประมาณอื่นมาใช้

ผมได้ก่อตั้งทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ ในปี ค.ศ. 2001 ทำการตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคให้โรงพยาบาลของรัฐฟรีทุกแห่ง

ในที่สุด WHO ก็เปลี่ยนคำแนะนำใหม่ ให้ทุกประเทศตรวจหาความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาก่อนเริ่มการรักษา แต่คำแนะนำนี้ล่าช้าเกินไป หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้วิจารณ์ความผิดพลาดในการทำงานขององค์การอนามัยโลก เรื่องวัณโรคในปี ค.ศ. 2012

องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว

ในอดีต WHO ให้คำแนะนำความปลอดภัยทางถนน เน้นสาเหตุเฉพาะ เมา ขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร ไม่ใส่หมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ใช้ที่นั่งสำหรับเด็ก ผมออกมารณรงค์ง่วงอย่าขับ

หลังจากดูแลคุณบิ๊ก ดีทูบี ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากง่วงหลับใน ปี ค.ศ. 2003 ผมได้ก่อตั้งทุนง่วงอย่าขับในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี ปี ค.ศ. 2005

ทั้งนี้ได้ทำการศึกษาอุบัติการง่วงหลับใน ของคนขับรถโดยสาร และรถบรรทุก ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2006 รณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายจากการง่วงแล้วขับ วิธีการแก้ไข ความสำคัญของการนอนหลับให้เพียงพอ และประโยชน์ของการงีบหลับ

องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว

องค์การอนามัยโลกมีแถลงการณ์เพิ่มว่า ง่วงหลับใน ยาบางชนิดทำให้ง่วง การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนในปี ค.ศ. 2015 นี่คืออีกหนึ่งความล่าช้า ที่องค์การอนามัยโลกต้องปรับตัว

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะถอนประเทศสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก และงดเงินสนับสนุน เนื่องจากองค์การอนามัยโลก “ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” ในการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และเป็นองค์กรที่อยู่ “ใต้เงาจีน”

ข้อมูลเพิ่มเติม

องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization ตัวย่อ WHO เป็นทบวงการชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบการประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานส่วนภูมิภาคตั้งอยู่อีกใน 6 เมือง ได้แก่บราซาวีล, วอชิงตัน ดี.ซี., ไคโร, โคเปนเฮเกน, นิวเดลี และ มะนิลา

ตราสารจัดตั้งองค์การอนามัยโลกได้รับการลงนามโดย 61 ประเทศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 และได้จัดการประชุมสมัชชาอนามัยโลกขึ้นสมัยแรก เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1948

หน้าที่หลักของ องค์การอนามัยโลก มี 4 ข้อ ดังนี้

1. อำนวยความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ตามความต้องการเมื่อได้ร้องขอมา
2. จัดให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประเทศต่างๆทั่วโลก
3. ส่งเสริมและประสานงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่างๆ อันไม่อาจดำเนินไปได้โดยลำพังของแต่ละประเทศ
4. ทำหน้าที่แก้ปัญหาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาได้ เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก

ถึงเวลาแล้วที่ องค์การอนามัยโลก ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ต้องมีการปฏิรูป ปรับปรุง รับฟังความเห็นต่าง เพื่อให้คำแนะนำในการทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo