การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ “หน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า” กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในทุกๆ วัน แต่เมื่อใช้เสร็จแล้ว ส่วนใหญ่ยังทิ้งหรือจัดการไม่ถูกต้อง ทั้งที่หน้ากากดังกล่าวอาจมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคติดอยู่ ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อพนักงานเก็บขยะ รวมถึงอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงแนะนำวิธีคัดแยกทิ้งขยะหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ผ้า หรือทิชชู่ที่มีสารคัดหลั่งให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อโรคอื่นๆ
ประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยยึด 3 ข้อ
- คนไม่ป่วยใช้หน้ากากผ้า ลดปริมาณขยะ ผู้ที่ไม่มีอาการป่วย หรือไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคติดเชื้อโควิด-19 สามารถใช้หน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้ นอกจากจะเป็นการประหยัดเงินในการซื้อหน้ากากอนามัยแล้ว ยังช่วยลดจำนวนขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วและจำนวนขยะติดเชื้อด้วย
- แยกถุงขยะเฉพาะหน้ากากที่ใช้แล้ว ประชาชนควรทิ้งหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า โดยแยกใส่ถุงต่างหากจากถึงขยะประเภทอื่นๆ ปิดปากถุงให้แน่น และควรทำสัญลักษณ์ที่ถุงขยะหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า เช่น ผูกเชือก หรือเขียนบอกให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ หรือนำไปทิ้งในถังขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง)
- จัดให้มีถังขยะติดเชื้อในชุมชน ถ้าเป็นไปได้ ควรจัดให้มีถังขยะติดเชื้อ ไว้ในชุมชน ที่สาธารณะ หรือจุดรวบรวมขยะ เพื่อเป็นจุดทิ้งขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ผ้า หรือทิชชู่ที่มีสารคัดหลั่ง เป็นต้น
เจ้าหน้าที่เก็บหน้ากากอนามัยยึด 3 ข้อ
- จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ ถุงมือยางหนา ผ้ายางกันเปื้อน หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า หน้ากากป้องกันหน้า และเครื่องแต่งกายที่รัดกุม เป็นต้น และกำชับให้พนักงานเก็บขยะสวมใส่ในการปฏิบัติงานทุกครั้ง รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำรองให้เพียงพอ สำหรับการปฏิบัติงานทุกวัน
- มีมาตรการป้องกันก่อน/หลังทำงาน กำหนดให้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อจากโรคไวรัสโควิด-19 แก่พนักงานเก็บขยะทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สบู่ เป็นต้น ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องแต่งกายที่สวมใส่ในขณะที่ปฏิบัติงาน รวมถึงฉีดล้างรถบรรทุกเก็บขนขยะมูลฝอยเป็นประจำทุกวัน
- จัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมแก่พนักงานในการกำจัดขยะ จัดหามาตรการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมให้แก่พนักงานประจำจุดกำจัดขยะเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการปฏิบัติงาน โดยเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545
ถ้าทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค ปลอดภัยทั้งผู้ทิ้งและผู้จัดเก็บ
- หน้ากากอนามัย ‘อันตรายมาก’ แพทย์ญี่ปุ่นห้ามเด็กต่ำกว่า 2 ขวบใส่
- ผลวิจัยยืนยันชัด ‘หน้ากากอนามัย’ ลดการติดไวรัสโควิดได้จริง
- ชี้โอกาสลงทุน ‘หน้ากากอนามัย’ เมื่อกลายเป็น ‘ของที่ต้องมี’