COVID-19

‘ธีระชัย’ แจง ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ เก็บ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจ “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ระบุว่า 

fm21102011 1 20111021210011

“เก็บ พรก.ฉุกเฉิน ไว้-มีข้อดีข้อเสีย?”

มีข้อถกเถียงกันว่า รัฐบาลควรเก็บ พรก.ฉุกเฉินไว้หรือไม่ เพราะสามารถคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ได้ต่ำเป็นเวลานานแล้ว

ที่สูงขึ้นเกินสิบในบางวันนั้นเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ และวันนี้ ตัวเลขภายในประเทศก็ลดเหลือศูนย์แล้ว เหลือแต่ต้องระวังผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อถึงวันนี้ การเก็บ พรก.ฉุกเฉิน ไว้จึงมิใช่เงื่อนไขทางสาธารณสุขแล้ว แต่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งสังคมไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

คนที่กลัวโควิด หรือเชียร์รัฐบาลประยุทธ์ จะสนับสนุนให้เก็บไว้ก่อน เพราะเพิ่งจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงยิงปืนนัดเดียว สยบได้ทั้งโควิดและการเมือง แต่รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป เนื่องจากโควิดแพร่ทางลมหายใจและน้ำลาย ดังนั้น เมื่อประชาชนเอาจริงเรื่อง social distancing ประเทศนั้นย่อมจะเบรกการแพร่กระจายได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ถึงแม้เบรกการแพร่กระจายได้ แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะคลายเต็มที่ ก็ต่อเมื่อมีวัคซีน ขณะนี้มีกว่า 100 องค์กรที่เร่งพัฒนาวัคซีน หลายองค์กรไปถึงขั้นทดลองกับมนุษย์แล้ว แต่วัคซีนใช้เวลาระยะหนึ่ง!

นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ให้ข้อมูลผมว่า การทดลองในขั้นที่ทำกับมนุษย์ ที่เรียกว่า ระดับคลีนิคนั้น จะต้องทำเป็น 3 phase

  • Phase 1 คือเริ่มทดลองโดยแบ่งกลุ่มเพื่อเปรียบเทียบกัน ต้องใช้ปริมาณที่ต่างกัน ต้องมีเวลาติดตามดูอาการ
  • Phase 2 จะเริ่มได้ ต่อเมื่อประสบความสำเร็จจาก Phase 1 แล้ว โดยจะมีการนำคนกลุ่มใหม่เข้ามาร่วมทดลองด้วย
  • Phase 3 นำผลสำเร็จจาก Phase 2 ไปขยายจำนวนคนทดลองให้กว้างขึ้นอีก

แต่กรณีโควิด เมื่อปล่อยคนที่ฉีดวัคซีนเข้าไปใช้ชีวิตปกติที่คนเน้น social distancing แล้วนั้น อาจจะทำให้กินเวลานาน กว่าจะรู้ผล

ดังนั้น นพ.วิชัยจึงคิดว่า ช่วงสำเร็จ คือ มิ.ย. – ธ.ค. 2564 และกว่าจะผลิตได้เชิงอุตสาหกรรมเพื่อกระจายไปประเทศต่างๆ ก็จะต้องใช้เวลาอีก 6-9 เดือน

Vaccine 17042020

นอกจากนี้ เนื่องจากไทยไม่ได้เข้าไปร่วมลงทุนพัฒนาวัคซีน เมื่อใดที่ต่างชาติพัฒนาเสร็จ ไทยจะไม่ได้อยู่ในคิวอันดับต้นที่จะได้รับวัคซีน

เจ้าหน้าที่ WHO กล่าวใน CNN ว่า ถึงแม้บางองค์กรตั้งเป้าให้มีวัคซีนภายใน ธ.ค. 2563 แต่ในอดีตจะเลยเป้ามากทุกครั้ง

ดังนั้น กว่าจะมีวัคซีนที่วางใจได้ ก็จะใช้เวลา

ถามว่า ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง กลุ่มไหนจะถูกกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด?

กลุ่มที่จะถูกกระทบหนักสุด คือพนักงานและลูกจ้างธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง ไม่ว่าธุรกิจนั้นถูกล็อคดาวน์หรือไม่ แต่จะเกิดจากพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน โดยลูกค้าจะระมัดระวังตัวไปอีกนาน ทั้งในด้านสุขภาพ และในด้านการออมเงิน

ตัวอย่างเช่น โครงการอสังหาฯ ที่มียูนิตค้างสต๊อคสูงจะพบว่าลูกค้าชะลอการซื้อ คอนโดสำหรับคนจีนและรัสเซียจะขายยาก รวมไปถึงบ้านตากอากาศหรูสำหรับคนยุโรปขณะนี้ บริษัทอสังหาฯ บางรายเจรจาบีบให้ supplier ช่วยซื้อบ้านและคอนโดที่ค้างสต็อกกันแล้ว

ผู้ที่เข้าไปในศูนย์การค้าช่วงล็อกดาวน์ จะพบว่าไม่ต่างอะไรกับเข้าเขตภัยพิบัติ เพราะบรรยากาศเครียด มีแต่เด็กมอเตอร์ไซค์นั่งรอรับอาหาร

ร้านค้าปลีกขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง จะหายไปจากช้อปปิ้งมอลล์ จะมีการค้างค่าเช่า ร้านสินค้าแบรนด์เนมจะร้าง และถึงแม้ในออฟฟิศ คนจะนั่งห่างกันมากขึ้น แต่พื้นที่เช่าออฟฟิศจะลดลงเพราะ Work From Home

ส่วนโรงหนัง โรงละคร สนามมวย จะต้องคิดมาตรการที่จะทำให้ประชาชนวางใจ

พฤติกรรมลูกค้าที่กระทบต่อรายได้อสังหาฯ จะปรากฏชัดเจนขึ้นภายหลังการคลายล็อคดาวน์ และจะหนักต่อเนื่องไปทุกเดือนตลอดปี 2563 และ 2564

จะมีการเลื่อนการก่อสร้าง โครงการที่สร้างไม่จบจะเก็บเงินได้ยาก ค่างวดจะจ่ายช้าลง และจะกระทบร้านค้าวัสดุก่อสร้างไปด้วย ธุรกิจจะเปลี่ยนไปขายแบบเงินสดเป็นหลัก

โรงแรม 4-5 ดาวจะไม่มีนักธุรกิจ งานแต่งงาน งานสัมมนา คนกินเที่ยวจะน้อยลง เพราะบรรยากาศกินเที่ยวสังสรรค์ที่ผ่อนคลายจะหายไปกับ social distancing กิจการต่อเนื่องกับท่องเที่ยวก็สะดุดหมด ไม่ว่ารถทัวร์ เรือสำราญ ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านขายของที่ระลึก

ขณะนี้มีบริษัทคนไทยนับร้อย ที่เสนอขายอย่างเงียบๆ ทั้งโรงแรม และกิจการต่างๆ แต่ไม่มีใครสนใจซื้อ ไม่ว่านักลงทุนตะวันตกหรืออาหรับ สายการบินทั่วโลกแทบจะหยุดบิน ต้องจอดวางเครื่องบินส่วนใหญ่ และพฤติกรรมเดินทางน้อยลง จะเปลี่ยนเป็นขับรถเที่ยวใกล้ๆ จะกระทบธุรกิจต่อเนื่องอย่างหนัก

วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว สลับจังหวะผลัดกันทรุด แต่คราวนี้ทรุดพร้อมกัน และลามไปถึงประเทศผลิตน้ำมัน

GettyImages 1211647413

ถึงแม้จะมีบางคน หวังจะซื้อรถยนต์เพื่อเลี่ยงการแออัดในรถไฟ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเลื่อนการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน และ Work From Home มีการใช้รถน้อยลง ดังนั้น โรงงานรถยนต์ก็จะเผชิญปัญหายอดขายทั่วโลกตกต่ำไประยะหนึ่ง

ปัญหา cash flow ธุรกิจจะเริ่มตึงตัวในเดือน มิ.ย. เป็นต้นไปภายหลังการคลายล็อค และพฤติกรรมลูกค้ามีผลต่อรายได้

ถึงแม้รัฐบาลให้ ธปท. อุ้มบริษัทที่ออกตราสารหนี้ แต่ ธปท. ช่วยได้แต่ cash flow ชั่วคราว รัฐบาลไม่สามารถเนรมิตรายได้กลับคืนให้เอกชน

บริษัทที่เดิมมีสัดส่วนหนี้สูง หรือกู้เงินขยายกิจการมากเกินไป หรือกู้เก็งกำไรที่ดิน จึงจะมีบางรายที่ default และจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งระบบ จะทำให้ทุกบริษัทยิ่งลดเครดิตการค้าระหว่างกัน

ธุรกิจที่มีความต้องการเงินสดหมุนเวียนมากขึ้น จำเป็นต้องขอสินเชื่อชั่วคราวจากแบงก์ แต่บริษัทจะพบว่า แบงก์ระมัดระวังสินเชื่อใหม่เป็นพิเศษ เพราะแค่ลูกหนี้เดิมก็เสี่ยงเป็น NPL มากมายอยู่แล้ว ไม่ว่าบริษัทธุรกิจ หรือบุคคลธรรมดาที่ผ่อนรถผ่อนบ้าน

หลายนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่กระตุ้นอุปโภคบริโภคระยะสั้น เช่น ชิมช้อปใช้ ช้อปช่วยชาติ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขึ้นไปสูงเป็นอันดับต้นของอาเซียน จะส่งผล ในอนาคตอันใกล้ ลูกหนี้บางรายจะหมดกำลังผ่อนรถผ่อนบ้าน

นอกจากนี้ ราคาอสังหาฯ ที่ลดลง จะทำให้หลักประกันเสื่อม แบงก์จะเรียกให้ลูกหนี้หาหลักประกันมาเพิ่ม 

ทั้งนี้ ชาวบ้านระดับรากหญ้าที่ตกงานในกรุงเทพ ก็ไม่สามารถย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัดได้ง่าย เพราะไม่มีรากฐานเหลือเก็บไว้ ไม่มีที่ดินจะใช้ทำกินได้ เป็นต้น

ขณะนี้มีแรงงานต่างจังหวัดส่วนหนึ่งที่ตกงาน ค้างค่าเช่า และต้องออกไปเร่ร่อนอยู่ใต้สะพาน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมกรุงเทพฯ

มิใช่เฉพาะชาวบ้านระดับรากหญ้าเท่านั้น แต่นักศึกษาที่จบหลักสูตรในปีนี้และปีหน้า ก็จะมีความยากลำบากในการหางานกว่าเดิม ความฝันที่จะเริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน ก็จะสลายไปต่อหน้า!

เศรษฐกิจที่ไปได้ชั่วคราว ก็เกิดขึ้นแก่เฉพาะบางกลุ่มที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ต ทำธุรกิจดิลิเวอรี่ แต่แรงงานที่หาเช้ากินค่ำ ที่เน้นใช้แรงกาย อินเทอร์เนตไม่ให้คำตอบ

singg

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยติดอันดับโลกอยู่แล้ว เพราะ

  1. ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา (ดูรูปการเมืองในกะลาแลนด์) รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ใช้นโยบาย Trickle down economy ที่เน้นสร้างโครงการใหญ่ให้แก่นักลงทุน หวังจะให้ล้นเขื่อนลงไปประชาชนรากหญ้า แต่ผลปรากฏว่าการกระจายรายได้แย่ลง
  2. ค่าแรงไทยสูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมระดับมีเดียมเทค รัฐบาลพลเอกประยุทธ์พยายามแก้ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ระบบการศึกษาไม่พัฒนารองรับ
  3. นโยบายเอื้อนายทุน เช่น ยกเลิกเพดานราคาก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือน และแก้ปัญหาชดเชยด้วยการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน มีผลเป็นเอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซ ตลาดหุ้นบูม จีดีพีสูง แต่ประชาชนย่ำแย่
  4. นโยบายปล่อยให้เอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้า ทำให้ประชาชนต้องแบกรับกำลังผลิตที่เกิน peak demand ถึง 30-40% มีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุน แต่ประชาชนย่ำแย่  พอมาเจอเศรษฐกิจโควิด ประชาชนก็ยิ่งเดือดร้อนหนัก

ถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างไร?

ต้องเริ่มต้นก่อนว่า ถึงแม้คลายล็อกดาวน์ ถึงแม้จะยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ประชาชนก็ต้องการ์ดไม่ตก ยังต้องดูบทเรียนการระบาดรอบสองของประเทศอื่นเป็นตัวอย่าง แต่การไม่ยกเลิก จะทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงไปเรื่อยๆ มีผลต่อเศรษฐกิจ 2 กลุ่ม

พ่อค้าแม่ค้ารายจิ๋วที่ขายของเองตามตลาด ถูกกระทบโดยตรงจากล็อกดาวน์ ในระดับใหญ่ขึ้นมาหน่อย คือกลุ่ม SMEs ที่ถูกกระทบจากล็อคดาวน์ ยิ่งล็อคนาน ก็ยิ่งสลบสนิท ยิ่งต่ออายุกฎหมายฉุกเฉิน ก็ยิ่งไม่ฟื้น ส่วนนี้มีมาก

พรก.ฉุกเฉินทำให้เครียด ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ไทยเที่ยวไทยจะไม่เกิด

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจเพื่อรองรับปัญหานี้ ว่ารัฐบาลควรทำอย่างไรนั้น ผมจะค่อยเสนอในลำดับต่อๆ ไป  แต่ต้องระวังว่า สถานการณ์ที่จะเลวลงไปเรื่อยๆ อย่างนี้ อาจจะทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง เพราะคนหมดหนทาง

Avatar photo