COVID-19

สถิติ ‘ติดเชื้อในบ้าน’ สูงสุด ย้ำสมาชิกในครอบครัว ต้องป้องกันตัวเอง 100%

สถิติ “ติดเชื้อในบ้าน” สูงสุด ย้ำสมาชิกในครอบครัว ต้องป้องกันตัวเอง 100%  โดยเฉพาะสามีภรรยา เป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อกันสูงสุด 43% 

report02 01 12

วันนี้ ( 28 เม.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้สรุปตัวเลขจำนวนผู้ป่วยตามปัจจัยเสี่ยงรายสัปดาห์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.ระบุว่า กลุ่มติดเชื้อสูงสุดยังเป็นกลุ่มอายุ 20-29 ปี จำนวน 703 ราย อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อ 39 ปี

ส่วนการแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อตามปัจจัยเสี่ยง สูงสุดยังเป็นการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนหน้า รวมทั้งหมด 1.069 ราย รองลงมาเป็นอาชีพเสี่ยง 250 ราย และคนไทยกลับจากต่างประเทศ 250 ราย สนามมวยรวม 248 ราย สถานบันเทิง 201 ราย และคนไทยกลับจากต่างประเทศ 114 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ติดจากการสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า พบว่า 2 สัปดาห์สุดท้ายสูงถึง 151 ราย ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดกับบุคคลในครอบครัวติดเชื้อกันเอง ดังนั้นคนในครอบครัว จะต้องป้องกันตัวเอง 100%

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุว่า ช่วงแรกของการพบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในประเทศไทย เป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกเที่ยวบินจากต่างประเทศ ทำให้รูปแบบการติดเชื้อเปลี่ยนไปเป็นการติดภายในประเทศ จากพฤติกรรมที่คนอยู่ใกล้ชิดกัน การไปในสถานที่แออัด เช่น ตลาด สถานบันเทิง หรือป่วยแล้วไม่หยุดงาน จึงมีการแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง รวมทั้งผู้ที่ทำงานหรือออกไปนอกบ้านนำเชื้อเข้าบ้าน

ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อภายในครอบครัว หากเป็นกรณีคู่สามี-ภรรยา โอกาสติดสูงถึง 43% และยังทำให้ลูก หรือพ่อแม่ ที่สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวมีโอกาสติดเชื้อด้วย 14.8-16.4 % 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุระหว่าง 0-14 ปีพบว่า เกิดจากการสัมผัส พ่อ-แม่ ถึง 45 % รองลงมาเป็นการสัมผัสจากบุคคลที่อาศัยร่วมบ้าน 24% และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป่วยจากการสัมผัสคนร่วมบ้าน 34%

สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุด แนะนำให้เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดระหว่างคนในครอบครัว เมื่อมีอาการไข้หรืออาการทางเดินหายใจ เว้นระยะห่าง ใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ในบ้าน หากมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้แยกสิ่งของเครื่องใช้ สำรับอาหารเพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อ

นพ.โสภณ ระบุว่า รัฐบาลกำลังผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเดินทาง พบปะกันมากขึ้น ภาคธุรกิจหลายแห่ง จะเริ่มเปิดกิจการอีกครั้ง อาจมีโอกาสทำให้จำนวนผู้ป่วย กลับมาเพิ่มมากขึ้นได้อีก ขอให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมมาตรการสำหรับองค์กรเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ เช่น การทำงานจากบ้าน การเหลื่อมเวลาการทำงาน หรือการเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดโดยไม่ได้ป้องกัน รวมถึงให้ประชาชนตระหนักถึงมาตรการส่วนบุคคล การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน นับเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ทางด้านความก้าวหน้าในการตรวจเชื้อ เพื่อค้นหาผู้ป่วย นพ.ทวีศิลป์ บอกว่า การตรวจเชิงรุกในปัจจุบันมีประสิทธิภาพ โดยสแกนพื้นที่ที่พบผู้ป่วยสูง ยอดเจอผู้ป่วยก็จะเท่าๆกับการตรวจแบบปูพรม และการตรวจที่ดีที่สุด คือ  PCR หรือ การหาเชื้อด้วยสารคัดหลั่งบริเวณโพรงจมูกด้านหลัง หรือน้ำลายที่กำลังมีการพัฒนา

ส่วนตรวจแบบ Rapid Test เป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือด ซึ่งวิธีนี้มีต้นทุนที่ถูก แต่ยังไม่มีการรับรองผล 100% อย่างไรก็ตามฝ่ายวิชาการได้ปรึกษาแล้ว ให้มีการตรวจแบบ PCR และเลือกเข้าไปตรวจในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพื้นที่ขอบชายแดน กลุ่มแรงงานแออัด กลุ่มคนในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

โดยปัจจุบันได้มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุน ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าการใช้งบประมาณ ตรวจแบบปูพรมทั้งประเทศที่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณประมาณหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งในที่ประชุมศูนย์ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข ทุกเขตวางแผน การตรวจแบบเฉพาะเจาะจง ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง ของทุกเขตตรวจราชการ ทั้งนี้ให้พยายามดำเนินการโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้อง กับช่วงผ่อนปรนมาตรการ เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลต่อไป

TaBle chart01 01

TaBle chart02 011

 

Avatar photo