COVID-19

ทีมวิจัยจีนชี้ วัคซีนโควิด-19 ครอบจักรวาล กระตุ้นภูมิสู้ได้ทุกสายพันธุ์

ศูนย์จีโนมฯ เผยทีมวิจัยจีน ระบุ วัคซีนโควิด-19 ครอบจักรวาล ที่พัฒนนาจากโควิด 3 สายพันธุ์ “เดลตา, BA.5 และ XBB.1.5” อาจใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันสู้กับไวรัสโคโรนา 2019 ได้ทุกสายพันธุ์ 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  เรื่อง  วัคซีนโควิด-19 ครอบจักรวาล (Universal COVID-19 Vaccine)? โดยระบุว่า

วัคซีนโควิด-19

งานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด 3 สายพันธุ์ (trivalent covid-19 vaccine) อาจใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับไวรัสโคโรนา 2019 อย่างครอบคลุมทุกสายพันธุ์ (broad spectrum) ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) จนถึงโอไมครอนสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน JN.1 และ โอไมครอน BA.2.87.1 ที่สุ่มเสี่ยงจะการระบาดได้ในอนาคต

การกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของโควิด-19 อย่างเช่น โอไมครอน BA.2.86.1, JN.1 และล่าสุด BA.2.87.1 ได้สร้างความกังวลไปทั่วโลก เพราะแม้แต่ วัคซีนโอไมครอนสายพันธุ์เดียว XBB.1.5 หรือที่เรียกว่า วัคซีนโมโนวาเลนต์ ที่อาศัยโอไมครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบหรือสารตั้งต้น (monovalent XBB.1.5-containing vaccines) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ และองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (US FDA) เพิ่งผ่านการรับรองให้ใช้เมื่อปลายปี 2566 อาจไม่สามารถป้องกันการระบาดจากสายพันธุ์อุบัติใหม่ เช่น โอไมครอน JN.1 และล่าสุด BA.2.87.1 เพราะส่วนหนามต่างไปจากโอไมครอน XBB.1.5 ถึง 24 และ 36 ตำแหน่งตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ทีมวิจัยจากจีนได้นำเสนอผลงานวิจัยในฐานข้อมูล bioRxiv (A Hub for Preprints in Biological Sciences) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อรอการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันพิจารณา (Peer review) แสดงให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ชนิดไตรวาเลนท์ XBB (WSK-V102C) สามารถเข้าจับและทำลายโอไมครอน สายพันธุ์ดั้งเดิมรวมถึงสายพันธุ์ล่าสุด JN.1 และ BA.2.87.1 ที่สุ่มเสี่ยงจะระบาดขึ้นได้ในอนาคต

ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดไตรวาเลนท์ XBB จะมีระดับภูมิคุ้มกันของแอนติบอดีสูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีการติดเชื้อ XBB ซ้ำตามธธรรมชาติ

วัคซีนโควิด-19 ครอบจักรวาล 

การติดตามและปรับปรุงสูตรวัคซีนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวให้ทันกับไวรัสโควิด-19 ที่มีการวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยผู้ผลิตวัคซีนมีเป้าหมายที่จะสร้างวัคซีนโควิด-19 ชนิดครอบจักรวาล อันหมายถึงวัคซีนที่มีความสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ตั้งแต่ที่เคยระบาดในอดีต ปัจจุบัน และที่อาจมีการระบาดขึ้นในอนาคต

1 7

วิวัฒนาการก้าวกระโดด (evolutionary jump)

โอไมครอน BA.2.86.1, JN.1 และ BA.2.87.1 ได้มีวิวัฒนาการแยกตัวกลายพันธุ์มาจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.2 ซึ่งตรวจพบเมื่อปี 2565 ก้าวกระโดดข้ามสายพันธุ์โอไมครอน XBB ซึ่งเพิ่งพบการะะบาดเมื่อปีที่แล้ว (2566) อันเป็นการวิวัฒนาการก้าวกระโดด

เช่นเดียวกับโอไมครอน สายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1/BA.2) ที่มิได้กลายพันธุ์ต่อยอดมาจากสายพันธุ์เดลตาที่ก่อให้เกิดการระบาดติดเชื้อรุนแรงก่อนหน้า แต่กลับวิวัฒนาการก้าวกระโดดมาจากโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม แยกทางไปตามเส้นทางวิวัฒนาการที่ชัดเจน ซึ่งอาจประมาณกลางปี 2563

โอไมครอน ได้สะสมการกลายพันธุ์ใหม่มากกว่า 50 ตำแหน่งบนจีโนม เมื่อเทียบกับโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นที่พบการระบาดในจีนเมื่อ 2019 (2562) ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ถึงเส้นทางวิวัฒนาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แยกจากสายพันธุ์อื่น ๆ

ดังนั้นการผลิตวัคซีน อาจไม่ควรใช้โควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุดที่กำลังระบาด มาเป็นต้นแบบหรือหัวเชื้อในการผลิตวัคซีนแต่เพียงสายพันธุ์เดียว (monovalent) หรือไม่

ข้อมูลจากทีมวิจัยจีนกว่า 10 สถาบันพบว่าวัคซีน XBB ไตรวาเลนท์ (WSK-V102C) ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทโปรตีนซับยูนิต (protein subunit vaccine) ซึ่งใช้โควิด-19 สามสายพันธุ์คือ เดลตา, BA.5 และ XBB.1.5 เป็นสารตั้งต้น มีฤทธิจับกับไวรัสโควิด-19 ตัดแต่งทางพันธุกรรม (SARS-CoV-2 pseudoviruses) ได้อย่างครอบคลุม (broad spectrum) ตั้งแต่ไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น, เดลตา

นอกจากนี้ ยังรวมถึงโอไมครอน สายพันธุ์ดั้งเดิม BA.2 และรุ่นกลายพันธุ์ อย่าง โอไมครอน BA.5, XBB.1.5, XBB.1.16, EG.5.1, HK.3, BA.2.86, JN.1, และที่โดดเด่นคือสายพันธุ์ BA.2.87.1 ที่มีการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้สูงสุด และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดขึ้นได้ในอนาคต เพราะมีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามไปมากที่สุดถึง 36 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับโอไมครอน XBB.1.5

และหากเทียบโอไมครอน BA.2.87.1 กับโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.2) พบว่ามีการกลายพันธุ์ทั้งจีโนมและเฉพาะบริเวณหนามไปอย่างมากถึง 70 และ 40 ตำแหน่งตามลำดับ

อาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีน XBB ไตรวาเลนท์ เมื่อนำเลือดมาตรวจสอบปริมาณแอนติบดี(ไตเตอร์) ที่สามารถเข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ในหลอดทดลองพบว่า มีแอนติบดีไตเตอร์ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณแอนติบอดีที่แยกได้จากผู้ที่มีการติดเชื้อ XBB ตามธรรมชาติ

ยังไม่มีรายงานโดยตรง ที่เปรียบเทียบโปรไฟล์ของผลข้างเคียงระหว่างวัคซีน XBB ไตรวาเลนต์ (WSK-V102C) ซึ่งผ่านการอนุมัติให้ใช้ได้ในจีน และวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในอเมริกาและยุโรป โดยความปลอดภัยของวัคซีนทั้งสองได้รับการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดผ่านระบบเฝ้าระวังหลังการวางตลาด

2 7

ความแตกต่างระหว่างโอไมครอน JN.1 และ BA.2.87.1

โอไมครอน JN.1 ไม่ได้มีต้นกำเนิดในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นลูกหลานของ โอไมครอน BA.2.86.1 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในกลุ่มตัวอย่างจากเดนมาร์กและอิสราเอล โอไมครอน JN.1 ถูกกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ภายใต้การติดตามขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566

ในทางกลับกันโอไมครอน BA.2.87.1 ถูกค้นพบในประเทศแอฟริกาใต้ และถูกสุ่มพบเพียง 9 รายระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566

ดังนั้นโอไมครอน BA.2.87.1 ซึ่งส่วนหนามมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโอไมครอน XBB.1.5 (ที่ใช้เป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์) มากกว่า 30 ตำแหน่ง ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดขึ้นได้ในอนาคต

คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า วัคซีนโอไมครอนสายพันธุ์เดียว XBB.1.5 (monovalent XBB.1.5-containing vaccines) ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการระบาดของโอไมครอน BA.2.87.1 และลูกหลานได้ดีแค่ไหน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx

Avatar photo