COVID-19

ถอดบทเรียนสำคัญจากการติดเชื้อโอไมครอน นักศึกษาญี่ปุ่นกว่าหมื่นคน

ศูนย์จีโนมฯ เผยบทเรียนสำคัญ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อโอไมครอนแบบแสดงอาการ ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น 10,144 คน 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  ระบุว่า ถอดบทเรียนสำคัญจากการติดเชื้อโควิด-19 สายตระกูลโอไมครอนแบบแสดงอาการของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจำนวน 10,144 คน ในปี 2566 พบสองประเด็นหลักสำคัญ: ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสของการติดเชื้อ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้

ติดเชื้อโอไมครอน

ที่น่าสนใจคือกลุ่มนักศึกษาที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด/หัดเยอรมัน, นักศึกษาที่เรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์, และนักศึกษาที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 จะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะติดเชื้อโอไมครอนแบบแสดงอาการ

งานวิจัยที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ข้อมูล การตอบแบบสอบถามของบรรดานักศึกษาบนเว็บของมหาวิทยาลัยคาโกชิมะ ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 10,144 คนอันเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปีในเดือนเมษายน 2566 โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักศึกษาที่เริ่มแสดงอาการติดเชื้อครั้งแรกของโควิด-19 ในระหว่างการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ Advances in Infectious Diseases > Vol.14 No.1, March 2024

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้นักศึกษามีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น

  • การสูบบุหรี่
  • กิจกรรมคาราโอเกะ
  • เพศชาย
  • การเข้าชมรม
  • กิจกรรมเดินทางและการเข้าค่าย

ปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสของการติดเชื้อแบบแสดงอาการ

  • นักศึกษาที่เรียนคอร์สหรือหลักสูตรวิทยาศาสตร์
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด/หัดเยอรมัน
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ข้อมูลดังกล่าว เน้นย้ำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มทางสังคม, การสูบบุหรี่, และการร้องคาราโอเกะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในขณะเดียวกันชี้ให้เห็นว่าการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 จากการเรียนวิทยาศาสตร์, การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด/หัดเยอรมัน, และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นมาตรการสำคัญช่วยป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนที่แสดงอาการได้

โอไมครอน 2

ทำไมปัจจัยเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโอไมครอน

  • การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ที่แสดงอาการในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยเนื่องจากการสูบบุหรี่อาจทำให้การทำงานของปอดลดลงและลดความสามารถของปอดในการต่อสู้กับการติดเชื้อ ทำให้ผู้สูบบุหรี่มีความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเช่น โควิด-19

นอกจากนี้การสูบบุหรี่เกี่ยวข้องกับการติดต่อจากมือสู่ปาก (hand-to-mouth contact) ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไวรัสจากพื้นผิวสิ่งแวดล้อมที่มือสัมผัสไปยังปากของผู้สูบบุหรี่ ผลการศึกษาเน้นถึงความสำคัญในการรณรงค์ด้านสาธารณสุขในการลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ในหมู่นักศึกษาเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

  • กิจกรรมคาราโอเกะ, การเข้าชมรมกิจกรรม, การเดินทาง เข้าค่าย

กิจกรรมคาราโอเกะและการเข้ากลุ่ม/ชมรมมีส่วนเกื้อหนุนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยผ่านกลไก สาม C ที่องค์การอนามัยโลกระบุ ได้แก่ สถานที่แออัด, สถานที่ที่มีการสัมผัสใกล้ชิด, และพื้นที่อับอากาศและปิดล้อม (crowded places, close-contact settings, and confined and enclosed spaces)

กิจกรรมเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมอย่างใกล้ชิด โดยมักอยู่ในพื้นที่ภายในอาคารที่มีการระบายอากาศไม่ดี ซึ่งเพิ่มโอกาสการแพร่กระจายของละอองฝอยจากทางเดินหายใจ การร้องเพลงซึ่งเป็นกิจกรรมทั่วไปในการร้องคาราโอเกะ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดละอองลอยมากมายที่สามารถพาเชื้อไวรัสไปได้ อีกทั้งมีการใช้ไมโครโฟนและอุปกรณ์อื่นร่วมกันนำไปสู่ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อที่สูงขึ้น

กิจกรรมของกลุ่มและสโมสรมักจะเกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการแพร่กระจายของไวรัส สภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้มาตรการป้องกันตนเองขั้นพื้นฐาน เช่น การล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคมลดลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 ในหมู่ผู้เข้ารวมกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ

  • เพศชาย

ปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้นักศึกษามหาวิทยาลัย เพศชาย มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 แบบแสดงอาการ รวมทั้งโรคติดเชื้อต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น:

1. ความอ่อนแอทางชีวภาพ: งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าเพศชายอาจมีความไวทางชีวภาพที่สูงต่อการติดเชื้อจุลชีพบางอย่างเนื่องจากความแตกต่างในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระดับฮอร์โมนและปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีอิทธิพลต่ออาการและความรุนแรงของโรค

2. พฤติกรรมสุขภาพ: ผู้ชายอาจมีส่วนร่วมในพฤติกรรมสุขภาพที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงรวมถึงอัตราการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ที่สูงกว่าอันอาจส่งผลต่อการหายใจและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงเปิดโอกาสการติดเชื้ออย่างรุนแรง

3. ความชุกของโรควินิจฉัยร่วม หรือโรคที่เป็นร่วม (comorbidities) เพศชายมักจะมีความชุกของโรคที่เป็นร่วมบางอย่างเช่นโรคหลอดเลือดหัวใจซึ่งพบว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำหรับโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง

4. ปัจจัยทางอาชีพและสังคม: ผู้ชายอาจมีโอกาสสัมผัสกับ SARS-COV-2 มากกว่าเนื่องจากบทบาทการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมทางสังคมที่นำไปสู่อัตราการติดต่อที่สูงขึ้นจากบุคคลที่ติดเชื้อ

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเพศชายที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดแบบแสดงอาการอาจแตกต่างกันไปตามกลุ่มประชากรและการศึกษาที่แตกต่างกัน

  • ไอเรื้อรัง (มากกว่า 2 สัปดาห์)

เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ได้รับการประเมินว่าสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาการต่างๆ เช่น อาการไออย่างต่อเนื่อง มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยและการทำความเข้าใจการแพร่กระจายของโรค แต่ไม่ได้ถูกแยกออกเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระในผลการวิจัย

  • นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อมากกว่านักศึกษาปีอื่น ๆ เนื่องจาก

1. แวดวงสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่: นักศึกษาปีแรกมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น เพราะพวกเขาพยายามสร้างมิตรภาพใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในมหาวิทยาลัย ทำให้เพิ่มการติดต่อกับบุคคลที่ติดเชื้อมากขึ้น

2. สภาพความเป็นอยู่: นักเรียนปีหนึ่งจำนวนมากอาจอาศัยอยู่ในหอพักหรือที่พักรวมซึ่งมีประชากรหนาแน่นและอาจเอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากที่พักอาจมีระบบหมุนเวียนของอากาศที่ไม่ดี

3. ระยะเวลาในการปรับตัว: การเข้าสู่มหาวิทยาลัยมักเกี่ยวข้องกับการปรับตัวสู่ระดับใหม่ของความเป็นอิสระ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง นักศึกษาใหม่อาจไม่คุ้นเคยกับแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพของวิทยาเขตหรืออาจจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมทางวิชาการและสังคมมากกว่าข้อควรระวังด้านสุขภาพ

4. การมีส่วนร่วมในการปฐมนิเทศและกิจกรรมกลุ่มใหญ่: โดยทั่วไปแล้ว นักเรียนชั้นปีหนึ่งจะต้องเข้าร่วมในกิจกรรมปฐมนิเทศและการรวมตัวขนาดใหญ่อื่นๆ ที่สามารถเพิ่มการสัมผัสเชื้อโรคได้

โควิด

ทำไมปัจจัยเหล่านี้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนแบบแสดงอาการ

  • หลักสูตรวิทยาศาสตร์

การลงทะเบียนเรียนหลักสูตรหรือกระบวนวิชาทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นปัจจัยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการในนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญ ชี้ให้เห็นว่านักศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์อาจมีการปรับพฤติกรรมหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเนื่องจากมีความตระหนักรู้และการยึดมั่นในแนวทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากวุฒิการศึกษาของพวกเขา หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาในสาขาวิชาอื่น ชี้ให้เห็นความสำคัญของสาขาวิชาการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเสี่ยงในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัย

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด/หัดเยอรมันช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบแสดงอาการวัคซีนหัด/หัดเยอรมัน (The measles/rubella: MR vaccine) ถูกระบุว่า อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการด้วยเหตุผลหลายประการ

1. การป้องกันข้ามกลุ่มไวรัส: การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและโรคหัดเยอรมันซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสอาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะต่อกลุ่มไวรัสกลุ่มอื่น อาทิโควิด-19 ซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส เช่นกัน โดยการเหนี่ยวนำของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ไม่เฉพาะเจาะจง (a broad, nonspecific immune response) ปรากฏการณ์นี้รู้จักกันในชื่อภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน (heterologous immunity) เพิ่มความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อประเภทต่างๆที่หลากหลายนอกเหนือไปจากเชื้อโรคที่เราเคยติดเชื้อมาก่อนหน้าและหายแล้วหรือจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต่อไวรัสบางชนิด

2. ระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น: วัคซีน MR สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในลักษณะทั่วไปซึ่งอาจเสริมความสามารถในการตอบสนองต่อการติดเชื้อใหม่ที่แตกต่าง การเพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันที่ไม่เฉพาะเจาะจงนี้อาจเป็นการป้องกันเสริมให้กับภูมิคุ้มกันจำเพาะที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

3. B cell cross-reactivity: มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าเม็ดเลือดขาวชนิด B ที่สร้างแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นโดยการฉีดวัคซีน MR อาจทำปฏิกิริยาข้ามกับแอนติเจนของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนาทางอ้อม

กลไกที่ว่าวัคซีน MR สามารถกระตุ้นภูมิในร่างกายในการต่อสู้กับโควิด-19 มีความซับซ้อนจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทางคลินิกต่อไป

การฉีดวัคซีน MR โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉีดวัคซีน ≥ 2 โดส แสดงให้เห็นความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่แข็งแกร่งขึ้น ชี้ว่าการฉีดวัคซีนดังกล่าวอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการของโรคโควิด-19 ในหมู่นักศึกษาได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ใช่ใช้เป็นวัคซีนหลักแทนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยตรง

  • การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงเข็มกระตุ้น มีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบแสดงอาการ ในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญ และอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ลดลงและกิจกรรมทางสังคมที่อาจนำไปสู่การสัมผัส

การสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กิจกรรมทางสังคม และพฤติกรรมเสี่ยงของนักศึกษามหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมที่มีความเสี่ยงสูงน้อยลงอีกด้วย เนื่องจาก:

1. ผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมองว่าสุขภาพของตนเองเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และจึงมีพฤติกรรมระมัดระวังมากขึ้นโดยรวม รวมถึงการลดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมที่ทราบกันว่าเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส

2. การรณรงค์ฉีดวัคซีนมักจะคู่กับการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอื่น เช่น ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่ได้รับวัคซีนปรับรูปแบบพฤติกรรมแห่งตนให้ปลอดภัยมากขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19

3. บุคคลที่เข้ารับการฉีดวัคซีนมักมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมระมัดระวังตัวอยู่แล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo