COVID-19

สธ. เตือนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม ป่วยหนัก-เสียชีวิตสูงขึ้น กลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนด่วน!!

กรมควบคุมโรค แจ้งสถานการณ์โควิด-19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตสูงขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน

กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 14-20 มกราคม 2567) พบผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 718 ราย เฉลี่ย 102 รายต่อวัน สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่มีรายงาน 93 รายต่อวัน (เพิ่มขึ้น 12.9%)

shutterstock 1676695528

ทั้งนี้ แบ่งเป็นผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 209 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 149 ราย และเสียชีวิต 11 ราย (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4 ราย) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคเรื้อรัง (608) ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 6 ราย (54%) เป็นกลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม 5 ราย (36%) สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 45 ราย คิดเป็น 30%

ปัจจุบันโควิด 19 สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย JN.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอไมครอน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

shutterstock 2081755006 1

ทั้งนี้ ลักษณะอาการของผู้ป่วยโควิด 19 ที่ติดเชื้อ JN.1 มีอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ซึ่งยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอไมครอนเดิมในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ควรประมาท เน้นการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนรวมกันจำนวนมาก เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุ ล้างมือบ่อย ๆ

หากมีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้ตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อตรวจพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากป้องกันแพร่เชื้อ และสังเกตอาการ รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก

วัคซีน 2

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 ในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิต

สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พบว่าผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (608) ซึ่งไม่มีประวัติได้รับวัคซีน หรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

ดังนั้น ขอเน้นย้ำผู้ป่วยกลุ่ม 608 อาการคล้ายหวัด และมีผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้สวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา พิจารณาจ่ายยาต้านไวรัสโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo