COVID-19

เตรียมรับมือโควิด!! โอไมครอน JN.1 กลายพันธุ์ส่วนหนามเพิ่มจาก 1 ตำแหน่งกลายเป็น 2 ตำแหน่ง

ศูนย์จีโนมฯ เตือนเตรียมพร้อมเผชิญกับโอไมครอน JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มเติมจาก 1 ตำแหน่งกลายเป็น 2 ตำแหน่งในรูปแบบ SLip 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า เตรียมพร้อมเผชิญกับโอไมครอน JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มเติมจาก 1 ตำแหน่งกลายเป็น 2 ตำแหน่งในรูปแบบ SLip  (L455S+F456L) 

โอไมครอน JN.1

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมที่แชร์บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลก จีเสส (GISAID) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์ EG.5.1 ประมาณ 244 ราย และ JN ประมาณ 15 ราย คาดว่า JN จะระบาดเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของไทยในขณะนี้

โอไมครอนในสายของ EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L มักเรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า FLip ส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ได้ดีขึ้น พร้อมกับหลบเลี่ยงการเข้าจับและทำลายจากแอนติบอดีที่ผลิตโดยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จากการรับการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ

11 2

อนึ่ง การกลายพันธุ์บริเวณหนามของ L455F หมายถึง มีการแทนที่กรดอะมิโนลิวซีน (L) ด้วยฟีนิลอะลานีน (F) ที่ตำแหน่ง 455 ในขณะที่การกลายพันธุ์ของ F456L เกี่ยวข้องกับการแทนที่ของฟีนิลอะลานีน (F) ด้วยลิวซีน (L) ที่ตำแหน่ง 456

โอไมครอนในสายของ JN เดิมมีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม เพียงตำแหน่งเดียวคือ L455S แต่ก็ส่งผลให้มีการระบาดไปทั่วโลก และเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของ XBB

ในสหรัฐ JN.1 กลายเป็นสายพันธุ์หลัก 61.6% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่ระบาด (6 ม.ค.  2567) จากนั้นในเดือนมกราคม 2567 เช่นเดียวกันพบ JN (JN.1, JN.1.1, JN.1.1.1) มีการกลายพันธุ์เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งรวมเป็นสองตำแหน่งคือ L455S และ F456L พบผู้ติดเชื้อรายแรกในฝรั่งเศส ขณะนี้พบแล้วทั่วโลกจำนวน 41 ราย เรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า SLip

22 3

ยังไม่แน่ชัดว่าสายพันธุ์ JN ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation จะส่งผลให้มีการระบาดที่รวดเร็วและเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นไปจาก JN.1 สายพันธุ์เดิมที่ส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพียงตำแหน่งเดียว (L455S) หรือไม่ ในประเทศไทยยังไม่พบโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์แบบ SLip

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี กำลังเฝ้าติดตามสายพันธุ์ JN ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation ในบรรดาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย

หมายเหตุ การกลายพันธุ์แบบ SLip คล้ายกับ FLip แต่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของซีรีน (S) แทนที่จะเป็นฟีนิลอะลานีน (F) บริเวณส่วนหนามที่ตำแหน่ง 455 ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบ L455S และ F456L

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo