ศูนย์จีโนมฯ เผยผลตรวจจับเชื้อโควิด-19 ในสนามบิน 6 แห่งของสหรัฐ พบโอไมครอน 4 สายพันธุ์ “JN.1-JN.1.1-JN.1.2-XDD” คาดเป็นสายพันธุ์ที่จะระบาดหมุนเวียนไปทั่วโลกในปีหน้า 2567
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics แนะควรใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน หลังสหรัฐตรวจพบโอไมครอน 4 สายพันธุ์ใน 6 สนามบิน โดยระบุว่า
ช่วงนี้ควรใส่หน้ากากอนามัยกันอีกครั้งระหว่างการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือไม่? ขณะนี้ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ได้ตรวจพบโอไมครอน JN.1 จำนวน 46 ตัวอย่าง, JN.1.1 จำนวน 12 ตัวอย่าง, JN.1.2 จำนวน 3 ตัวอย่าง, และ XDD 4 ตัวอย่าง จากการสวอปผู้เดินทางในสนามบิน 6 แห่งในสหรัฐ
โปรแกรมการตรวจสอบโรคติดต่อจากผู้เดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร (The Traveler Based Surveillance Program:TBS) ภายใต้การดำเนินการของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ ทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยเร็วในการตรวจจับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ แบบเรียลไทม์ โดยได้ตรวจจับเชื้อโอไมครอนหลายสายพันธุ์ได้ถึง 6 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีการรายงานการระบาดในโลก
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention หรือ US CDC) พัฒนาโปรแกรมการตรวจสอบโรคติดต่อของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร (The Traveler Based Surveillance Program:TBS) อันเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในความมั่นคงทางชีวภาพของสหรัฐฯ (U.S. national biosecurity) วัตถุประสงค์หลักของโปรแกรมนี้คือ
1. การตรวจจับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ที่อุบัติขี้นทั้งเก่าและใหม่อย่างรวดเร็วก่อนที่ผู้เดินทางจะแสดงอาการ
2. การเติมเต็มหรือลดช่องว่างในการตรวจสายพันธุ์โควิด-19 ของทั่วโลกขณะนี้ซึ่งในทุกประเทศได้ลดจำนวนการตรวจสอบด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 (Variants and Genomic Surveillance for SARS-CoV-2) ลงไปอย่างมาก
ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโปรแกรม TBS
โปรแกรมได้ดำเนินโครงการนำร่องเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ด้วยการเก็บตัวอย่างจากจมูกผู้เดินทางในสนามบินเพื่อตรวจหาเชื้อทางเดินหายใจในช่วงฤดูหนาว/ฤดูร้อน เน้นที่ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ๋ Flu A/B, ไวรัส อาร์เอสวี (RSV) , ไวรัสโคโรนา 2019 และเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ประสบความสำเร็จ โครงการดังกล่าวจึงได้ขยายตัวและปัจจุบันดำเนินการอยู่ที่สนามบินนานาชาติหลัก 7 แห่งของสหรัฐฯ ได้แก่
- สนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดีในนิวยอร์ก
- สนามบินนานาชาตินวร์กลิเบอร์ตี้ในรัฐนิวเจอร์ซีย์
- สนามบินนานาชาติซานฟรานซิสโกในรัฐแคลิฟอร์เนีย
- สนามบินนานาชาติ Hartsfield-Jackson Atlanta ในรัฐจอร์เจีย
- สนามบินนานาชาติลอสแอนเจลีสในรัฐแคลิฟอร์เนีย
- สนามบินนานาชาติซีแอตเทิล-ทาโคมาในกรุงวอชิงตัน
- สนามบินนานาชาติดัลเลสในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
อาสาสมัครนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาถึงสนามบินได้เข้าร่วมการเก็บตัวอย่างด้วยการสวอปจมูกด้วยตนเอง
ตัวอย่างจะถูกส่งไปยังเครือข่ายห้องปฏิบัติการสำหรับการทดสอบปฏิกิริยา พีซีอาร์ (SARS-CoV-2 RT-PCR)
ตัวอย่างที่พีซีอาร์เป็นผลบวก จะถูกส่งไปถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมเพื่อตรวจสอบการกลายพันธุ์ของไวรัส
รหัสพันธุกรรมของไวรัสจากอาสาสมัครแต่ละรายจะถูกแชร์ให้กับผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของไวรัส ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง และการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แอนติบอดีสำเร็จรูปหรือวัคซีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันกับบรรดาไวรัสกลายพันธุ์
ขณะนี้ TBS ใช้ข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนม เพื่อติดตามการปรากฏขึ้นของเชื้อ SARS-CoV-2 ที่มีความหมายสำคัญอย่าง BA.2.86 และบรรดาลูกหลาน JN.1, XDD
โปรแกรม TGS ได้ตรวจจับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลากหลายสายพันธุ์นานถึง 6 สัปดาห์ก่อนที่จะมีรายงานการติดเชื้อทั่วโลก เช่นกรณีของ โอไมครอน BA.2, BA.3, BQ.1, BQ1.1, XBB, CH.1.1, XBC.1.6, BQ.1.2.2
ล่าสุด โปรแกรม TBS ในเดือนธันวาคม 2566 ได้ตรวจจับเชื้อโอไมครอน JN.1 จำนวน 46 ราย, JN.1.1 จำนวน 12 ราย, JN.1.2 จำนวน 3 ราย, และ XDD จำนวน 4 ราย ซึ่งคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่จะระบาดหมุนเวียนไปทั่วโลกในปีหน้า 2567
ข้อมูลอัปเดตนี้เน้นถึงความสำคัญของการรักษามาตรการความปลอดภัยในสนามบินจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยกันอีกครั้งในช่วงนี้
สนามบินของสหรัฐ มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อปี เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในการตรวจสอบทางชีวภาพ ทำให้สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขได้ทันท่วงทีแบบเรียลไทม์
TBS ทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยที่รวดเร็ว ในการตรวจจับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ แบบเรียลไทม์ โดยได้ตรวจจับเชื้อโอไมครอนหลายสายพันธุ์ถึง 6 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการรายงานการติดเชื้อไปทั่วโลก ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีเวลาเตรียมตัวในการป้องกันหรือลดการระบาด
TBS เติมเต็มช่องว่างข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมจากหลายประเทศที่ลดลง โดยรับสมัครจากนักท่องเที่ยวประมาณ 3 แสนคนต่อปีจากมากกว่า 135 ประเทศจากทุกภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก
TBS ช่วยลดผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการปิดชายแดนและการระงับการเดินทางและการค้า
โปรแกรมนี้รวมถึงการเก็บตัวอย่างน้ำเสียจากเครื่องบิน และการเก็บตัวอย่างน้ำเสียจากท่อระบายน้ำของสนามบิน (A global aircraft-based wastewater genomic surveillance)
โปรแกรม TBS กำลังขยายการทดสอบสำหรับเชื้อที่มีลำดับความสำคัญเพิ่มเติมมากกว่า 30 รายการ นอกจาก SARS-CoV-2
ตั้งแต่เริ่มต้นโปรแกรม โปรแกรมได้ถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมมากกว่า 14,000 ตัวอย่างและแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID)
โปรแกรม TBS เป็นแบบอย่างของการตรวจจับเชื้ออุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำนอกเหนือจากไวรัสโคโรนา 2019 ที่สามารถใช้เป็นระบบเตือนภัยเร็วแบบเรียลไทม์ ที่สามารถตรวจจับเชื้อที่สามารถแพร่ในกลุ่มคนก่อนเกิดการระบาดจริงถึง 6 เดือน อันช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ช่วยหลีกเลี่ยงความจำเป็นในการปิดชายแดนและการหยุดชะงักในการเดินทางและการค้า
ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน TGS สามารถตรวจสอบเที่ยวบินกว่า 250 เที่ยวบินจากจีนและศูนย์กลางการขนส่งโดยรอบ เพื่อรวบรวมตัวอย่างได้รวดเร็วและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่กำลังระบาดหมุนเวียนในจีนในขณะนั้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ส่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ‘โอไมครอน’ จับตาสายพันธุ์ XDD ระบาดทั่วโลกปี 67
- ศูนย์จีโนมฯ เผย 4 สาเหตุ ทำไม? โอไมครอน HK.3 กลุ่มกลายพันธุ์พลิกขั้ว น่ากังวลกว่า BA.2.86
- ทั่วโลกยกระดับ ติดตามใกล้ชิด ‘โอไมครอน BA.2.86’ กลายพันธุ์หนีวัคซีน หลบภูมิคุ้มกันได้สูงสุดในบรรดาโควิด 19