COVID-19

โอไมครอน JN.1 วิวัฒนาการกลายพันธุ์ของไวรัส หลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้น

ศูนย์จีโนมฯ จับตาวิวัฒนาการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของโอไมครอน BA.2.86 ไปเป็นโอไมครอน JN.1 เพื่อให้หลบหนีภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  ระบุว่า วิวัฒนาการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของโอไมครอน BA.2.86 ไปเป็นโอไมครอนรุ่นลูก JN.1 ภายใต้แรงกดดันทางภูมิคุ้มกันอย่างหนัก

โอไมครอน JN.1

ดร. โจ หยุนหลง (Cao Yunlong) หรือที่รู้จักในชื่อ ริชาร์ด เฉา (Richard Cao) นักวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมบุกเบิกทางชีวการแพทย์ (BIOPIC) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และทีมวิจัย ได้ทำการทดลองแสดงให้เห็นว่า

โอไมครอนสายพันธุ์ BA.2.86 มีการกลายพันธุ์โดยเฉพาะบริเวณหนามที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์ไปอย่างมากกว่า 30 ตำแหน่ง (major change) เมื่อเทียบกับโอไมครอน XBB.1.5 ทำให้จับกับผิวเซลล์บริเวณ ACE2 ได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามการกลายพันธุ์ส่วนหนามในลักษณะนี้ ส่งผลเสียกับไวรัสในด้านการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มลดลง (การเข้าจับของแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นกับส่วนหนามเพื่อทำลายไวรัส) เมื่อเทียบกับโอไมครอนสายพันธุ์ก่อนหน้า XBB.1.5

222

ภายใต้แรงกดดันทางภูมิคุ้มกันอย่างหนักทำให้ BA.2.86 ต้องมีการกลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ JN.1 (BA.2.86.1.1) ซึ่งมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำแหน่ง L455S เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.2.86

ทั้งนี้ เพื่อปรับให้ประสิทธิภาพการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งขณะนี้พบ JN.1 ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศส

การกลายพันธุ์ L455S ของ JN.1 ช่วยเพิ่มความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะสูญเสียความสามารถในการจับกับผิวเซลล์บริเวณ ACE2 ลงบ้าง ทำให้สามารถเอาชนะโอไมครอน BA.2.86 รุ่นพ่อแม่

11 7

นอกจากนี้ ยังเอาชนะโอไมครอนสายพันธุ์หลักอย่าง HV.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอไมครอน XBB.1.5 ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (XBB.1.5+L452R+F456L) และโอไมครอน JD.1.1 ลูกหลานของโอไมครอน XBB.1.5 ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว ร่วมกับการกลายพันธุ์ที่ A475V อีกหนึ่งตำแหน่ง (XBB.1.5+L455F+F456L+A475V) ในแง่ของการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกาย

วิวัฒนาการกลายพันธุ์โดยเฉพาะส่วนหนามอย่างรวดเร็วจากโอไมครอน BA.2.86 ไปเป็นโอไมครอน JN.1 คล้ายคลึงกับการเปลี่ยนผ่านก่อนหน้านี้จากโอไมครอน BA.2.75 ไปเป็นโอไมครอน CH.1.1 ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีต้องถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมเพื่อติดตามสายพันธุ์ของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดทั้งในส่วนการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการเข้าจับกับผิวเซลล์

สรุปได้ว่าโควิด-19 จะเน้นการกลายพันธุ์ในส่วนหนาม ที่ช่วยเพิ่มการหลบหนีของภูมิคุ้มกันในระหว่างการแพร่เชื้อ ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยคุณสมบัติของความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ที่ลดลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo