COVID-19

ทั่วโลกหันกลับมา จับตา ‘โอไมครอน BA.2.86’ หลังกลายพันธุ์เพิ่ม แพร่เร็วขึ้น หวั่นระบาดระลอกใหม่

ศูนย์จีโนมฯ เผย ทั่วโลกหันกลับมา จับตา “โอไมครอน BA.2.86” หลังพบกลายพันธุ์ไปมากถึง 35 ตำแหน่ง แพร่เร็วขึ้น หวั่นระบาดระลอกใหม่

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า ทั่วโลกหันกลับมาจับตา โอไมครอน BA.2.86 หลังพบว่ากลายพันธุ์เพิ่มมากถึง 35 ตำแหน่ง แร่ระบาดรวดเร็วขึ้น หวั่นเกิดการระบาดระลอกใหม่ไปทั้งโลก ดังนี้

โควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.86 หรือ “พิโรลา” มีการกลายพันธุ์ส่วนหนามไปถึง 35 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับ XBB.1.5 ทำให้สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดเทียบกับโอไมครอนสายพันธุ์หลัก BA.5, BQ.1.1, BF.7, XBB.1.5, EG.5 (XBB.1.9.2.5), และ HK.3 “Flip” (XBB.1.9.2.5.1.1.3) แต่ยังขาดความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ส่วนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (monoclonal antibody) ประเภทเดียวที่ยังใช้ได้ผลกับ BA.2.86 คือ “SA55”

โอไมครอน BA.2.86

กลายพันธุ์เพิ่ม แพร่เชื้อรวดเร็ว หวั่นระบาดระลอกใหม่

BA.2.86 หรือ “พิโรลา” ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นมา (emerging variant)  แต่คาดว่าจะมีการระบาดมาระยะหนึ่งเพราะพบผู้ติดเชื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกันกระจายอยู่ทั่วโลก เพียงแต่เพิ่งมาตรวจพบด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม โดยพบว่ามีการกลายพันธุ์ไปอย่างมากโดยเฉพาะส่วนหนามที่ใช้ยึดเกาะเซลล์

แม้การแพร่ระบาดของ BA.2.86 ในช่วงนี้ยังไม่รวดเร็วเท่ากับสายพันธุ์หลัก XBB  แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะ BA.2.86 มีการกลายพันธุ์ไปมากและอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้รุ่นลูก รุ่นหลาน ของ BA.2.86 มีวิวัฒนาการกลายพันธุ์ที่ทำให้มีการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการแพร่เชื้อที่รวดเร็วขึ้นเป็นลำดับ

จากงานวิจัยของทีมนักวิจัยจีนนำโดย ศ. หยุนหลง เฉาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พบว่าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (โมโนโคลนอล แอนติบอดี) ต่อไปนี้คือ: โซโตรวิแมบ, ซิลกาวิแมบ, ทิกซาจวิแมบ, เบ็ทเทโลวิแมบ,อะอินเทวิแมบ, LY-CoV1404 S309, S3H3, Omi-42, COV2-2196, COV2-2130, REGN10933, REGN10987 , และ SA55

มีเพียง “SA55” ที่ยังสามารถเข้าจับและทำลายโอไมครอน BA.2.86 ในหลอดทดลองได้ 

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเกิดความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของ BA.2.86 ที่อาจมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมจนทำให้มีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วยิ่งขึ้น จนส่งผลให้เกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่ไปทั่วโลก

โอไมครอน BA.2.86

หลบภูมิจากวัคซีนรุ่นใหม่

การตรวจพบ BA.2.86 กระจัดกระจายในประเทศต่างๆ ที่ไม่มีประวัติการเดินทางหรือความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา บ่งชี้ว่า BA.2.86 ได้มีการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆมาระยะหนึ่งแล้วก่อนที่จะถูกตรวจพบด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม

จากการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า BA.2.86 มีการกลายพันธุ์แตกต่างจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆอย่างมากรวมถึงโอไมครอน XBB.1.5 ส่งผลให้ดื้อต่อแอนติบอดีที่เกิดจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นใหม่ ที่หลายบริษัทผลิตขึ้นมาใช้ในขณะนี้ รวมทั้งแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากการติดโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ตามธรรมชาติ เช่น BA.5, BF.7, XBB.1.5, EG.5 (XBB.1.9.2.5), HK.3 “Flip” (XBB.1.9.2.5.1.1.3)

BA.2.86 สามารถหลบเลี่ยงการเข้าจับและทำลายของแอนติบอดีที่ร่างกายผู้ติดเชื้อสร้างขึ้นมาหลังการติดเชื้อโอไมครอน XBB ตามธรรมชาติ หรือหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่บริษัทต่างๆผลิตขึ้นมา โดยมีสารตั้งต้นเป็นส่วนหนามบริเวณต่างๆของโอไมครอน XBB  เนื่องจากหนามของ BA.2.86 ในส่วนของกรดอะมิโนมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่นบริเวณ K356T, L452W, V445H, A484K และ V483del

โอไมครอน BA.2.86

ทำให้โอไมครอน BA.2.86 มีความสามารถในการหลีกเลี่ยงการเข้าจับและทำลายของแอนติบอดีที่เกิดจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจากบริษัทใดที่ผลิตขึ้นมาให้ใช้ฉีดกันในขณะนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับโอไมครอน XBB.1.5 แล้ว BA.2.86 มีการติดต่อแพร่เชื้อระหว่างเซลล์มนุษย์ในหลอดทดลองได้ไม่ดีนัก แต่จับกับผิวเซลล์บริเวณ ACE2 ได้ดีกว่าโอไมครอน XBB.1.5

ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า BA.2.86 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดีมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน เนื่องจากส่วนหนามเปลี่ยนไปมากจนแอนติบอดีจดจำไม่ได้ นอกจากนี้การที่ส่วนหนามเปลี่ยนแปลงไป ยังส่งเสริมให้อนุภาคไวรัสสามารถเข้าจับกับผิวเซลล์ได้แน่นขึ้น แต่ปรากฏว่าการแพร่ติดต่อระหว่างเซลล์(สู่เซลล์)ของไวรัสยังไม่ดีนัก

โอไมครอน BA.2.86

ติดตามการกลายพันธุ์อย่างใกล้ชิด

สายพันธุ์ BA.2.86 ยังไม่สามารถกระตุ้นให้เซลล์ที่ติดเชื้อมาหลอมรวมกัน (fusion) เกิดเป็นเซลล์เดียวขนาดใหญ่แต่หลายนิวเคลียส (multinucleated giant cells) ได้มากเท่ากับโอไมครอน XBB ซึ่งจะพบเซลล์ปอดมีการหลอมรวมกัน (fusion) เป็นเซลล์ขนาดใหญ่หลายนิวเคลียสในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง

BA.2.86 ก็เหมือนโอไมครอนสายพันธุ์อื่นที่เมื่อปรากฏตัวหรืออุบัติขึ้นมาเป็นครั้งแรก จะมีการแพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คนไม่ดีนัก แต่ระหว่างการระบาดระหว่างคนสู่คนไประยะหนึ่ง ไวรัสมักมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมปรับตัว จนทำให้การติดต่อแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์รวดเร็วขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามการกลายพันธุ์ของ BA.2.86 ทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมอย่างรวดเร็ว ผ่านฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส”  (global SARS-CoV-2 genomic surveillance and data sharing)

เพื่อให้นักวิจัยทั่วโลกได้นำข้อมูลไปใช้พัฒนาวัคซีนเพื่อการป้องกัน และพัฒนายาและภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เพื่อการรักษาโรคโควิด-19 ที่อาจมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ด้วยสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo