COVID-19

‘ดร.อนันต์’ เผยแนวคิดจีน มองนอกกรอบพัฒนาวัคซีนโควิด เลิกวิ่งตามไวรัส

“ดร.อนันต์” ยกผลทดลองพัฒนาวัคซีนโควิดรูปแบบใหมของจีน ฉีกความคิดเดิม ๆ ที่พยายามวิ่งตามไวรัส เปลี่ยนเป็นใช้สายพันธุ์ดั้งเดิม ป้องกันไวรัสหนีภูมิได้ดี

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า

พัฒนาวัคซีนโควิด

ปัญหาสำคัญที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้พัฒนาวัคซีนโควิดคือ วัคซีนควรไปทางไหนดีในอนาคต หลายคนฉีดวัคซีนกันบ่อยมาก จนภูมิขึ้นกันไม่ค่อยดีกับวัคซีนตัวใหม่

ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ประสิทธิภาพของวัคซีนในอนาคต ก็อาจจะลดลงไปเรื่อย ๆ

งานวิจัยเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cell Host and Microbe โดยทีมวิจัยกลุ่มใหญ่จาก Chinese Academy of Sciences (CAS) ของประเทศจีน ระบุว่าแนวคิดการ Update วัคซีนโควิด โดยตามไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในธรรมชาติ อาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ดี

ทั้งนี้เพราะภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดเข็มกระตุ้น จะไม่สามารถป้องกันไวรัสที่หนีไปอีกได้ดี จริง ๆ แล้วมีวิธีที่ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพกว่า

ทีมวิจัยมีแนวคิดว่า ถ้าวัคซีนเข็มกระตุ้นมีแค่ความใกล้เคียง แต่ไม่เหมือนกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาด ภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจะมีโอกาสถูกหนีได้มาก ไวรัสเปลี่ยนนิดเดียวก็หนีภูมิจากวัคซีนได้

ดรอนันต์
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา

ทีมวิจัยเลยมองนอกกรอบ โดยคิดว่าถ้าร่างกายถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ออกแบบจากไวรัสที่มีคุณสมบัติไกลออกไป แต่ยังมีส่วนของแอนติเจนบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่กับไวรัสที่เป็นสายพันธุ์หลัก ร่างกายจะมีโอกาสสร้างภูมิต่อแอนติเจนส่วนนั้น ซึ่งมักจะเป็นภูมิที่ป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้ ไวรัสมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตรงส่วนนั้นยากถึงยากที่สุด

ทีมวิจัยได้ทำนายโดยใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศ และพบว่า วัคซีนที่ออกแบบจากไวรัส SARS-CoV สายพันธุ์ดั้งเดิม (ตัวที่ระบาดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน) มีความไกลจาก SARS-CoV-2 แต่มีส่วนที่ไวรัสสองสายพันธุ์ที่มีอะไรที่เหมือนกันอยู่

ขณะที่ไวรัส MERS-CoV ไกลเกินไป ส่วนทับซ้อนน้อยไป จนอาจจะไม่ช่วยอะไรมาก

เพื่อทดสอบสมมติฐานดังกล่าว ทีมวิจัยได้ทดสอบในหนูทดลองที่ได้วัคซีนโควิดของ Pfizer มา 2 เข็ม แล้วกระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรต่าง ๆ เช่น วัคซีนพัฒนาจากโควิดดั้งเดิม จากเดลต้า โอไมครอน SARS-CoV-1 และ MERS-CoV

วัคซีน

ผลการทดสอบพบว่า ภูมิจากการกระตุ้นด้วบวัคซีนจาก SARS-CoV-1 สามารถกระตุ้นภูมิจากการฉีด Pfizer มายับยั้งไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ดีจริง ๆ

ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบภูมิเหล่านั้น โดยการ challenge หนูด้วยไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ BA.2 และ พบว่า หนูที่กระตุ้นด้วย SARS-CoV-1 ป้องกันการติดเชื้อ และ ป่วยจากไวรัสได้ดีกว่าทุก ๆ กลุ่ม

แนวคิดนี้น่าสนใจมาก เพราะฉีกความคิดเดิม ๆ ที่พยายามวิ่งตามไวรัสอยู่ และดูเหมือนว่าจะไม่มีทางตามทัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo