COVID-19

WHO และ US FDA เสนอใช้ ‘XBB’ สายพันธุ์เดียว เป็นต้นแบบผลิต ‘วัคซีนโมโนวาเลนต์’ ให้ทันการระบาดปี 67

WHO และ US FDA เสนอบริษัทวัคซีน ใช้ “XBB” สายพันธุ์เดียว เป็นต้นแบบผลิต “วัคซีนโมโนวาเลนต์” เพื่อให้ทันการระบาดปี 67

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (US  FDA) ประสานเสียงเสนอให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนมาใช้โอไมครอนสายพันธุ์เดียว XBB เป็นหัวเชื้อหรือต้นแบบในการผลิต “วัคซีนโมโนวาเลนต์”

พร้อมแนะนำให้ประเทศต่างๆควรเตรียมตัวเปลี่ยนมาใช้วัคซีน XBB เพื่อทันต่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อกลายพันธุืในปีหน้า พ.ศ. 2567 แทนการใช้วัคซีน 2 สายพันธุ์ (ไวรัสอู่ฮั่น+โอไมครอน BA.4/BA.5) หรือ “วัคซีนไบวาเลนต์” ซึ่งได้มีการนำมาใช้ในช่วงปีนี้ พ.ศ. 2566

อย่างไรก็ดีข้อเสนอแนะจาก WHO และ FDA เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ประเทศต่างๆและผู้ผลิตวัคซีนพิจารณาเองว่าจะดำเนินการหรือไม่ หาดำเนิการจะใช้วัคซีนชนิดใด หรือผลิตวัคซีนด้วยโควิดสายพันธุ์ใด อย่างไรก็ตามคำแนะนำของ WHO และ FDA เป็นการบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าวัคซีนโควิด สายพันธุ์ XBB ชนิดโมโนวาเลนต์น่าจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องผู้คนจากโควิด-19 ที่จะมีการระบาดในปีหน้า

WHO

วัคซีนโควิดในอนาคต ควรเป็นวัคซีนสายพันธุ์เดียว หรือ โมโนวาเลนต์

องค์การอนามัยโลก(WHO)และองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (US FDA) แถลงว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆให้เห็นว่าวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 ชะลอตัวหรือลดลง

วัคซีนโควิด-19 ในอนาคตควรเป็นวัคซีนสายพันธุ์เดียว หรือวัคซีนโมโนวาเลนต์ (covid-19 monovalent vaccine) ที่กำหนดเป้าหมายไปที่โอมิครอน XBB.1.5, XBB.1.16 หรือ XBB.2.3 เนื่องจากปัจจุบันพบสายพันธุ์ย่อย XBB มากกว่า 95% ของสายพันธุ์ไวรัสที่หมุนเวียนระบาดอยู่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566

สายพันธุ์ XBB หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากกว่าสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนก่อนหน้า และปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 95% ของผู้ป่วยโควิดทั่วโลก

ในสหรัฐอเมริกา พบสายพันธุ์ XBB จำนวน 8 สายพันธุ์คิดเป็นกว่า 98% ของผู้ป่วยทั้งหมดในปัจจุบัน โดยมี 3 สายพันธุ์หลักโอไมครอน XBB.1.5 จำนวน 40% และ XBB.1.16 ประมาณ 18% และ XBB.2.3 ประมาณ 6% ตามลำดับ

WHO

สายพันธุโควิดในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยพบสายพันธุ์โอไมครอนจากฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) ระหว่าง 1 พฤษภาคม-15มิถุนายน 2566 จำนวน 658 ราย พบเป็นสายพันธุ์

  • โอไมครอน XBB ประมาณ 95.6%
  • XBB.1.5 ประมาณ 17.5%
  • XBB.1.16 ประมาณ 35.6%
  • XBB.1.9 ประมาณ 13.5%
  • XBB.2.3 ประมาณ 4.7%

โอไมครอน XBB.1.16, XBB.1.9 และ XBB.2.3 คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาและแทนที่ XBB.1.5 ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2566

ลดประสิทธิภาพการป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง 62% ใน 2 เดือนแรก

การประเมินประสิทธิผลของวัคซีนสองสายพันธุ์ (covid-19 bivalent vaccine) ล่าสุดในผู้ใหญ่ชี้ให้เห็นว่า การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงจาก 62% ใน 2 เดือนแรกหลังการฉีดวัคซีนเหลือเพียง 24% ใน 4 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีน ดังนั้นประชาชนในกลุ่มเปราะบางจึงควรพิจารณาเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ XBB แบบโมโนวาเลนต์ในฤดูกาล 2566-2567 คำแนะนำนี้มาจากความจริงที่ว่าสายพันธุ์ XBB เป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ และพวกมันสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าและหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า

ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เคยได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้าโอไมครอน XBB ยังจะไวต่อการติดเชื้อและมีอาการป่วยจากสายพันธุ์ XBB  ได้ วัคซีนสายพันธุ์ XBB ชนิดโมโนวาเลนต์จะมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนรุ่นเดิมในการปกป้องผู้คนจากการติดเชื้อโอไมครอน และป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโอไมครอนกลายพันธุ์ที่จะระบาดในอนาคต

WHO

ทุกประเทศควรวางแผนใช้วัคซีนสายพันธุ์เดียว แทนวัคซีนแบบเก่า

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ ยังใช้วัคซีนไบวาเลนต์ที่มีอยู่ต่อไปตลอดฤดูกาล 2565-2566 แต่ควรเริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนไปใช้วัคซีนสายพันธุ์ XBB ชนิดโมโนวาเลนต์ในฤดูกาล 2566-2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตวัคซีนมีเวลาเพียงพอในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนใหม่

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารขององค์การอาหารและยา (FDA) ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้กล่าวว่า หลักฐานที่มีอยู่บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ในปีนี้ควรกำหนดให้สายพันธุ์ XBB เป็นหัวเชื้อหรือต้นแบบในการผลิตวัคซีนในปี 2566-2567 ทั้งยังแนะนำให้ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ XBB  แบบวัคซีนโมโนวาเลนต์สำหรับฤดูกาล 2566-2567 เช่นเดียวกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวิธีการพัฒนาและการใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นสัญญาณว่าไวรัสกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช้สายพันธุ์เก่ามาเป็นหัวเชื้อร่วมกับสายพันธุ์ใหม่ (วัคซีนไบวาเลนต์) แม้ผลกระทบทางคลินิกจะยังไม่ชัดเจน แต่มีหลักฐานในหลอดทดลองบ่งชี้ว่า หากใช้สายพันธุ์เดิมฉีดกระตุ้นซ้ำๆจะทำให้การสร้างแอนติบอดีของเม็ดเลือดขาวต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปเล็กน้อยลดประสิทธิภาพลง (การประทับตราภูมิคุ้มกัน: immune imprinting) จึงควรใช้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เท่านั้นในการผลิตวัคซีนในอนาคต

shutterstock 1850607544

การประทับตราภูมิคุ้มกัน (Immune imprinting)

การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ใช้ไวรัสตัวเดิมซ้ำๆ อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีกล่าวคือเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การประทับตราภูมิคุ้มกัน: Immune imprinting” เป็นกระบวนการที่ระบบภูมิคุ้มกันของเราเรียนรู้จดจำรูปลักษณ์ของไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีน เช่น ในกรณีของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่นมาโดยตลอด ข้อดีคือจะช่วยให้ร่างกายของเราตอบสนอง(สร้างแอนติบอดี) ได้เร็วขึ้นหากพบไวรัสตัวเดิมอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตามหากร่างกายเรากลับพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยจากสายพันธุ์เดิม เช่น XBB  ระบบภูมิคุ้มกันอาจยังคงจดจำรูปแบบเดิมของไวรัสสายพันธุ์เก่าที่เรียนรู้จากการรับวัคซีน “ไม่มูฟออน” ทำให้ไม่สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือสร้างน้อย อุบัติการณ์นี้พบได้ในหลอดทดลอง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในระบบร่างกายมนุษย์

คำแนะนำของ WHO และ FDA เป็นขั้นตอนเชิงบวกในการต่อสู้กับโควิด-19 พวกเขาจะช่วยให้แน่ใจว่าผู้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่มีอยู่ และจะช่วยปกป้องผู้คนจากสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดของไวรัสในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo