COVID-19

อัปเดตโควิดไทย โอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 มากสุด ส่วน XBB.2.3 ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง

กรมวิทย์ฯ เผย โอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ยังสัดส่วนสูงสุด ส่วน XBB.2.3 แม้จะหลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง ย้ำ ATK และ PCR ตรวจได้ทุกสายพันธุ์

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์โอไมครอน BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ในตระกูล

โอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม

ทั้งนี้ โอไมครอน ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในประเทศ และจากสถานการณ์กลายพันธุ์ภายในสายพันธุ์ของโอไมครอนที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยหลากหลายกลุ่มในตระกูล รวมถึงโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญกับการติดตามโอไมครอนรวม 9 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุก หรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค ดังนี้

สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 2 สายพันธุ์ ได้แก่

  • XBB.1.5
  • XBB.1.16

สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 7 สายพันธุ์ ได้แก่

  • BQ.1
  • BA.2.75
  • CH.1.1
  • XBB
  • XBB.1.9.1
  • XBB.1.9.2
  • XBB.2.3
นพ.ศุกกิจ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

สถานการณ์สายพันธุ์เชื้อ SARS-CoV-2 ทั่วโลก อ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ในรอบสัปดาห์ 8-14 พฤษภาคม 2566 พบสัดส่วนเพิ่มขึ้น/ลดลงจากรอบสัปดาห์ 10 – 16 เมษายน 2566 ดังนี้

  • XBB.1.5 รายงานจาก 115 ประเทศ คิดเป็น 34.04% ลดลงจาก 49.07%
  • XBB.1.16 รายงานจาก 61 ประเทศ คิดเป็น 16.32% เพิ่มขึ้นจาก 8.78%
  • XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2 ละ XBB.2.3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • BA.2.75, CH.1.1 และ BQ.1 มีแนวโน้มลดลง

ส่วนสถานการณ์โดยรวมของประเทศไทย พบโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แทนที่สายพันธุ์ BN.1 ที่เคยเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 และพบในทุกเขตสุขภาพ

แบ่งตามเขตสุขภาพ

ข้อมูลจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ตั้งแต่เริ่มพบสายพันธุ์ XBB.1.16 เมื่อเดือนเมษายน 2566 ปัจจุบัน XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่พบสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 30.34% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.9 คิดเป็น 26.59% และสายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็น 20.96%

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม34 มิถุนายน 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 185 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 169 ราย คิดเป็น 91.35% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ

สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้สามอันดับแรก ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16,   XBB.1.9.1. และ XBB.1.5 คิดเป็น 35.68%, 20.00 % และ 11.35% ตามลำดับ

รายสัปดาห์

ส่วนสายพันธุ์ XBB.2.3 องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (VUMs) เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของโอไมครอน BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความได้เปรียบในการเติบโตแพร่ระบาด

ทั้งนี้ พบรายงานจาก 54 ประเทศทั่วโลก จำนวน 7,664 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2566) สำหรับประเทศไทย พบแล้วจำนวน 60 ราย รายงานครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าสายพันธุ์ดังกล่าว ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค

นพ.ศุภกิจ ย้ำว่า การตรวจวินิจฉัยโรคโควิด 19 ด้วยชุดทดสอบ ATK และการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Real-time PCR ยังสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอไมครอน และสายพันธุ์ลูกผสม

อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนให้ความสำคัญในการดูแลตัวเอง เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อป้องกันตนเองรวมถึงช่วยลดความรุนแรงของโรคหากได้รับเชื้อ

ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo