COVID-19

เตือน!! ระวัง ‘โอไมครอนลูกผสม XBF’ หลังแพร่ระบาดเร็วในออสเตรเลีย 20 วัน เสียชีวิตแล้วกว่าพันคน

เตือน!! ระวัง ‘โอไมครอนลูกผสม XBF’ หลังแพร่ระบาดเร็วในออสเตรเลีย และมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง  

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เตือน! ให้ระวังโอไมครอนพันธุ์ลูกผสม “XBF” ที่กำลังระบาดในประเทศออสเตรเลีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ข้อความดังนี้

โอไมครอนลูกผสม XBF

ระวังโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XBF”  ในออสเตรเลียที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามนำชุดตรวจสารพันธุกรรมแบบพกพามาเสริมการตรวจ ATK เพื่อให้ทราบผลการติดเชื้อได้เร็วขึ้น สามารถให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อได้ทันท่วงที

ศ.เคธี่ อีการ์ (Kathy Eagar) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบริการสุขภาพแห่ง มหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย เผยว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิดในช่วง 20 วันแรกของปี 2566 ถึง 1,063 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งปีในปี 2563 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเพียง 909 รายและในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งปีรวม 1,316 คน

(ภาพ1)

โอไมครอนลูกผสม XBF

หลบภูมิเก่ง-จับผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้ดี ใกล้เคียง XBB.1.5

จากการสุ่มเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อโควิดมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” พบว่าโควิดสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในออสเตรเลียขณะนี้ เป็นโอไมครอนลูกผสม XBF ซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนสายจีโนม (recombination) ระหว่างโอไมครอนสองสายพันธุ์คือ BA.5.2.3 และ CJ.1

ซึ่งแตกต่างจากเดลตาครอน เช่น XAY และ XBC ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนบางส่วนของสายจีโนมระหว่างโควิดสองสายพันธุ คือเดลตา และโอไมครอน (ภาพ2.1-2.2)  จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมพบโอไมครอนลูกผสม XBF ในออสเตรเลีย 2,393 ราย ในขณะที่ทั่วโลกพบ 3,672 ราย ส่วนประเทศไทยยังสุ่มตรวจไม่พบ (ภาพ3)

โอไมครอนลูกผสม XBF

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าโอไมครอนลูกผสม XBF ที่แพร่มาจากประเทศสหรัฐเข้ากับสิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรเลียได้ดี เริ่มตรวจพบการแพร่ระบาดในเดือนตุลาคม 2565 จนขณะนี้ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศออสเตรเลีย โดยมีส่วนแบ่งการระบาดประมาณ 28% ถัดมาเป็น BR.2.1 ประมาณ 21% และตามมาด้วย CH.1.1 ประมาณ 8%

(ภาพ 4.1-4.2)

นักวิจัยยังพบว่าโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBF สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจับกับผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้ดี ใกล้เคียงกับโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.5

(ภาพ5)

โอไมครอนลูกผสม XBF

มาตรการที่รัดกุมใช้ไม่ได้ผล

ศาสตราจารย์ “สจ๊วร์ต เทอร์วิลล์” (Stuart Turville) นักไวรัสวิทยาแห่งสถาบันเคอร์บี (Kirby) กล่าวว่า มาตรการการป้องกันและรักษาโควิดที่ออสเตรเลียที่วางไว้อย่างรัดกุม ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลกับโอไมครอนลูกผสม XBF

ผู้เชี่ยวชาญของออสเตรเลียยังระบุว่า การฉีดวัคซีนครบโดสเต็มรูปแบบ รวมทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสองสายพันธุ์ (COVID-19 Bivalent Vaccine Boosters) ที่ทันสมัยในออสเตรเลีย ยังคงทำได้เพียงป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโอไมครอน XBF เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

โอไมครอนลูกผสม XBF

แม้แต่ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีสำเร็จรูปเช่นยา “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) และ “อีวูชิลด์” (Evusheld) ซึ่งให้ทางหลอดเลือดดำอันมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้

ปรากฏว่าอีวูชิลด์ใช้ “ไม่ได้ผล” กับโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBF  ในขณะที่โซโทรวิแมบยังคงใช้ได้ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย ที่แพร่ระบาดหมุนเวียนในประเทศออสเตรเลียรวมทั้ง XBF แต่มีประสิทธิภาพที่ลดต่ำลงกว่าที่ใช้ได้ผลกับโอไมครอนสายพันธุ์ที่มีระบาดก่อนหน้า คือ BA.1, BA.2, BA.4 และ BA.5  ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มโดสของยาที่ฉีดเพิ่มขึ้น อันอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา

โอไมครอนลูกผสม XBF

แพกซ์โลวิดยังเอาอยู่ แต่ดื้อยาเมื่อไหร่ หายนะมาเยือน

โชคดีที่ยาต้านไวรัสโควิด-19 “แพกซ์โลวิด” ชนิดรับประทานที่มีพอเพียงในออสเตรเลีย ยังคงมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของโอไมครอนทุกสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่แพทย์ผู้รักษาโควิด-19 ในออสเตรเลียต้องการคือยาต้านไวรัสโควิด-19 ตัวใหม่ ศาสตราจารย์ โทนี่ คันนิงแฮม (Tony Cunningham) แพทย์โรคติดเชื้อแห่งสถาบัน Westmead เพื่อการวิจัยทางการแพทย์กล่าวว่า “หายนะ” จะเกิดขึ้นจริงหากมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ดื้อต่อยาแพกซ์โลวิด

โอไมครอนลูกผสม XBF

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังชั่งน้ำหนักว่า หากต้องใช้ยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดเป็นระยะเวลานานกว่า 5 วัน เพื่อป้องกันการเกิด “รีบาวด์ (rebound)” อาจเป็นการเร่งให้เกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่?

โควิดรีบาวด์ (COVID rebound)” หรือการกลับมาพบเชื้อหรือป่วยซ้ำของผู้ที่รับยาโมลนูพิราเวียร์และแพ็กซ์โลวิด ปรากฏการณ์เช่นนี้พบประมาณ 1-2 % โดยความเสี่ยงในการเกิดรีบาวด์จากการใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ไม่แตกต่างกัน

สาเหตุกลไกของการกลับมาติดเชื้อซ้ำไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสที่สวอปได้ในขณะที่เกิด “โควิดรีบาวด์” ยังไม่พบว่าไวรัสเหล่านั้นมีการกลายพันธุ์ดื้อยาอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

โอไมครอนลูกผสม XBF

เตรียมนำ ชุดตรวจเร็ว PCR มาใช้ เพื่อการรักษาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้การให้ยาต้านไวรัสทุกชนิดเพื่อรักษาโควิด-19 จากหลักฐานทางคลินิกพบว่า ต้องให้อย่างรวดเร็วหรือในทันทีที่พบการติดเชื้อจะได้ประสิทธิผลสูงสุด แต่ขณะนี้ภาครัฐของทุกประเทศยอมรับการตรวจสอบการติดเชื้อโควิด19 ด้วยการใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน Antigen Test Kit (ATK) ที่มีความไว(sensitivity) ประมาณ 80 % ซึ่งยังไวไม่พอ ทำให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสต้องเนิ่นนานออกไป

โอไมครอนลูกผสม XBF

ดังนี้นักวิจัยของออสเตรเลียได้เน้นการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสเช่น PCR” แบบพกพาที่มีความไวในการตรวจพบโควิดสูงกว่า 98% เพื่อให้สามารถตรวจพบการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วหลังการติดเชื้อ และสามารถตรวจได้ในทุกสถานที่  เช่นที่บ้านเช่นเดียวกับการตรวจ ATK ไม่ต้องรอเดินทางเข้ามาตรวจในสถาบันการแพทย์  และหากพบว่ามีผลเป็นบวก สามารถประสานแพทย์ผู้รักษาเพื่อรับยาต้านไวรัสได้ในทันที

เนื่องจากมีข้อมูลทางคลินิกยืนยันการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็วหลังติดเชื้อ สามารถลดอาการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดการติดเชื้อเสียชีวิต และลดการเป็นลองโควิดได้อย่างมีนัยสำคัญ ข้อด้อยเพียงอย่างเดียวของชุดตรวจสารพันธุกรรมไวรัสแบบพกพาคือยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับชุดตรวจ ATK

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo