COVID-19

ใช้ ‘อาการ’ ช่วยระบุ ‘สายพันธุ์โควิด’ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน เช็กเลยอาการแตกต่างกันอย่างไร?

ใช้ ‘อาการ’ ช่วยระบุ ‘สายพันธุ์โควิด’ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน เช็กเลยอาการแตกต่างกันอย่างไร?

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง การใช้อาการ ช่วยระบุการติดเชื้อสายพันธุ์โควิด ดังนี้

การใช้ “อาการ” มาช่วยระบุสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น อัลฟา เดลตา มาจนถึงสายพันธุ์ปัจจุบันโอไมครอน BA.1, BA.2, BA.5, BQ.1, และ BQ.1.1

ปัจจุบันการตรวจสอบสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ทางห้องปฏิบัติการทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตระกูลโอไมครอนซึ่งเกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่มากมายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา

สายพันธุ์โควิด

พบว่าโอไมครอนสายพันธุ์อุบัติใหม่ เช่น BQ.1, BQ.1.1, XBB, XBB.1.5 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มจากวัคซีน หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ดื้อต่อยาฉีดเสริมภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่แตกต่างกัน รวมถึงความจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังการเกิดเชื้อดื้อยาต้านไวรัสที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ใช้อาการจำเพาะ ช่วยระบุสายพันธุ์โควิด

อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศขณะนี้ได้ปรับลดจำนวนการตรวจ PCR” และ “การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole covid genome sequencing)” ลงอย่างมาก เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ โดยใช้การตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK (ว่าเป็นบวกหรือตรวจพบเชื้อ) ที่มีราคาย่อมเยาและสามารถตรวจได้ด้วยตนเองในทุกสถานที่มาทดแทน

แม้ต้นทุนการตรวจ “PCR” และ “การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019” จะสูง แต่ก็มีความสำคัญเพื่อใช้ติดตามการกลายพันธุ์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของบรรดาไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มสายพันธุ์ใหม่ที่อุบัติขึ้นมาแทนที่สายพันธุ์เดิมที่ลดจำนวนลง เพื่อสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกับอาการทางคลินิกที่เปลี่ยนไป เพื่อใช้ในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคโควิด ได้ทันต่อเหตุการณ์

ดังนั้น หากเราสามารถใช้อาการที่จำเพาะ มาช่วยระบุถึงสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 (variant-specific symptom) โดยเฉพาะตระกูลโอไมครอนเบื้องต้นได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคตเพื่อส่งเสริมการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโควิด-19 ที่มีการลดจำนวนการตรวจ PCR และลดการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมลง

จากข้อมูลสำคัญที่ได้จากอาสาสมัครผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศอังกฤษจำนวนกว่า 4.7 ล้านคน ซึ่งช่วยกรอกอาการที่ตนเองประสบตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดจนถึงปัจจุบันแบบเรียลไทม์ ผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ภายใต้โครงการที่ไม่แสวงหากำไร  Zoe  Heath study”  ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้นำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ประเมินผลโควิด-19 ในหลายมิติ

โดยหากเปรียบเทียบโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เริ่มระบาดในเดือนมกราคม 2565 กับอาการผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์อุบัติใหม่ BQ.1 และ BQ.1.1 ที่พบระบาดในเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่ามีอาการความรุนแรงลดลง

สายพันธุ์โควิด

อาการผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม

โดยหากเรียง 5 ลำดับอาการที่พบมากไปหาน้อยในผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม “BA.1” พบว่ามีอาการ

  1. อาการน้ำมูกไหล
  2. ปวดหัว
  3. เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  4. จาม
  5. เจ็บคอ

อาการผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ปัจจุบัน

ส่วนหากเรียง 10 ลำดับอาการที่พบมากไปหาน้อยในผู้ติดโอไมครอนสายพันธุ์หลักเดือนพฤศจิกายน 2565 คือ BA.5 และลูกหลาน BQ.1, BQ.1.1 จะเป็นดังนี้

  1. อาการเจ็บคอ
  2. อาการน้ำมูกไหล
  3. จมูกที่ถูกบล็อก
  4. จาม
  5. อาการไอโดยไม่มีเสมหะ
  6. ปวดหัว
  7. ไอมีเสมหะ
  8. เสียงแหบ
  9. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  10. ความรู้สึกของกลิ่นที่เปลี่ยนไป

สายพันธุ์โควิด

โอไมครอนเหมือนกัน แต่มีอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจต่างกัน

สังเกตได้ว่าโอไมครอนสายพันธุ์ปัจจุบัน BA.5, BQ.1 และ BQ.1.1 เมื่อเปรียบเทียบกับอาการโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 แม้จะอยู่ในตระกูลโอไมครอนที่มีการติดเชื้อไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับบรรดาโควิด-19  สายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น อัลฟา และ เดลตา) กล่าวคือ มีการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ส่วนบน (upper respiratory tract infection) ไม่ติดเชื้อลงลึกบริเวณระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ส่วนล่าง (lower respiratory tract) อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เสียชีวิต

แต่ยังสังเกตพบว่าโอไมครอนสายพันธุ์ปัจจุบัน BQ.1, และ BQ.1.1 เมื่อเทียบกับโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 จะมีอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่รุนแรงน้อยกว่า กล่าวคือพบอาการนำในผู้ติดเชื้อ BQ.1, และ BQ.1.1 เป็น “เจ็บคอ” ส่วนอาการปวดหัว เหนื่อยล้า  อ่อนเพลียที่พบมากในผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 นั้นลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้อาการของแต่ละสายพันธุ์ มีความหลากหลายอันเนื่องจากการกลายพันธุ์ในระดับจีโนมแล้ว ยังอาจเนื่องมาจากภูมิหลังของผู้ติดเชื้อที่แตกต่างกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และการได้รับการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆ

การศึกษาของ “ZOE Covid study”  ยังพบว่าอาการของโควิดสายพันธุ์ “ดั้งเดิม” (ไวรัสอู่ฮั่น อัลฟา เดลตา) ซึ่งระบาดในช่วง 1-2 ปีแรก โดยเฉพาะการสูญเสียการได้กลิ่น (anosmia) หายใจถี่ และมีไข้ ปัจจุบันพบได้น้อยมาก อาการสูญเสียการได้กลิ่นตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 14 และอาการหายใจถี่ (จากการติดเชื้อที่ปอด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต) ตกลงมาอยู่ที่อันดับที่ 16 จากอาการที่เคยพบได้บ่อยในช่วงการระบาดของโควิดในช่วงแรก

อาการเด่นสูญเสียการได้กลิ่น เปลี่ยนเป็นอาการเจ็บคอ

การติดเชื้อโควิดในยุคแรกอาการเด่นคือ สูญเสียการได้กลิ่น ซึ่งเคยใช้เป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการติดเชื้อโควิด (ซึ่งเป็นไปได้ว่าลำดับพันธุกรรมของไวรัส สามารถเข้าไปควบคุมการแสดงออกของยีนตัวรับกลิ่น “olfactory receptors” ของเซลล์ผู้ติดเชื้อ แม้เซลล์นั้นจะไม่ติดเชื้อก็ตาม ทำให้การรับรู้กลิ่นหรือรสทั้งระบบลดลงหรือสูญเสียไปชั่วระยะหนึ่ง) ขณะนี้มีพบเพียงประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ

อาการเด่นได้เปลี่ยนมาเป็นอาการเจ็บคอแทน ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบน เช่นเดียวกับบรรดาไวรัสไข้หวัด ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง และหายได้เอง  เพราะปอดไม่ได้ถูกทำลาย

ส่วนอาการของโอไมครอนสายพันธุ์ล่าสุด XBB, XBB.1.5 ยังต้องรอประเมินข้อมูลจาก “ZOE Covid study”  อีกระยะหนึ่งเพราะเพิ่งมีการระบาดในเดือนธันวาคม 2565-มกราคม 2566 แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่า อาการไม่น่าจะรุนแรงแตกต่างไปจากโอไมครอน BQ.1 และ BQ.1.1 มากนัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo