POLITICS-GENERAL

ศธ. เสนอ ‘ปรับโครงสร้างหลักสูตร’ เป็น 8+1 แยก ‘วิชาประวัติศาสตร์’ ออกจากลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านสังคม

ศธ. เสนอ ‘ปรับโครงสร้างหลักสูตร’ เป็น 8+1 แยก ‘วิชาประวัติศาสตร์’ ออกจากลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านสังคม 

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พัฒนาและปรับโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน ไปแล้วนั้น

ปรับโครงสร้างหลักสูตร

เสนอปรับโครงสร้างหลักสูตรเป็น 8+1 

เพื่อให้มีการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน นี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

และพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปรับโครงสร้างหลักสูตร

รายละเอียดร่างประกาศ ศธ. แยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์

ในร่างประกาศ ศธ.ฉบับดังกล่าว กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต)

ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากบอร์ด กพฐ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศ ศธ.ฉบับดังกล่าวแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน คือจะมีการแยกรายการประเมินผลการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ โดยในแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.3) จะมีการแสดงผลการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์แยกออกมา จากเดิมที่รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ในปีงบประมาณ 2566 นี้ นอกจากจะเน้นเรื่องการเรียนการสอนแนวใหม่ สร้างการรับรู้ เน้นย้ำความสำคัญ โดยจะออกเป็นประกาศ ศธ.ในเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีการวางระบบสนับสนุนอย่างเหมาะสมให้ครอบคลุมทุกมิติ

เช่น การจัดกลุ่มตัวชี้วัดสาระประวัติศาสตร์และสาระหน้าที่พลเมือง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของตัวชี้วัด การส่งเสริมประสิทธิภาพจัดการเรียนรู้ โดยส่งเสริมให้ใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นห้องเรียน อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนําองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ ไปต่อยอด ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน และเกิดเป็นจริยธรรมของนักเรียน มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการการทํางานข้ามกระทรวง เช่น สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา วัฒนธรรมจังหวัด การท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์จังหวัด เป็นต้น

มีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง การใช้สื่อดิจิทัลและวิธีการเรียนรู้สมัยใหม่และมีการติดตาม ให้คำปรึกษา และประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วย

ปรับโครงสร้างหลักสูตร

สร้างสำนึกการเป็นไทย รักสถาบันหลักของชาติ

นายอนุชาฯ กล่าวอีกว่า ศธ. ได้ขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ ศธ. พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ เพื่อให้เด็กและนักเรียนได้เรียนรู้ถึงสถาบันหลักของชาติ การต่อสู้ของบรรพบุรุษ ความสามัคคีของคนไทยในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น

โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำกับผู้บริหารการศึกษา ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศสังกัด สพฐ. รวมถึง กศน. และโรงเรียนเอกชน ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน ให้สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคตได้

โดยขอให้เพิ่มการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างสำนึกของความเป็นไทย รักในการเป็นชาติไทย โดยจัดการเรียนรู้ตามความพร้อมและเหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่

นายกรัฐมนตรีเน้นให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างวิถีชีวิตความเป็นพลเมือง ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่มีความเป็นผู้นำที่ดี และสามารถเป็นแบบอย่างในการทำความดีเพื่อสังคม

นอกจากสอนให้เด็กเก่งแล้วยังต้องปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรักและหวงเเหนเเผ่นดินเกิด และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo