POLITICS-GENERAL

เตือน !! อย่ามองข้ามตะเกียบคีบหมู

ข้อมูลจากการเฝ้าระวัง ของกรมควบคุมโรค  ถึงสถานการณ์ “โรคไข้หูดับ” ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นระยะๆ ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั้งหมด 338 ราย เสียชีวิต 29 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 106 ราย รองลงมาคือ 55-64 ปี จำนวน 89 ราย และ 45-54 ปี จำนวน 85 ราย เดือนที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือพฤษภาคม จำนวน 50 ราย รองลงมาคือเดือนเมษายน จำนวน 45 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับมากที่สุดคือเมษายน จำนวน 5 ราย

ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วย 200 ราย จาก 25 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 0.31 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 19 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ พบในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป  และกลุ่มอายุระหว่าง 55-64 ปี ส่วนใหญ่มีอาชีพ รับจ้าง และ เกษตรกร

ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 35 ราย สูงสุดที่จังหวัดนครราชสีมา 32 ราย รองลงมาคือ ศรีสะเกษ 2 ราย และ หนองคาย 1 ราย พบผู้ป่วยเสียชีวิต 6 ราย ที่จังหวัดนครราชสีมา7dfffe018502eac9b3384dc618ef5261ในปี 2561 ซึ่งพบผู้เสียชีวิตในเดือนเมษายนมากที่สุด เพราะเป็นช่วงเทศกาลหยุดสงกรานต์ ที่คนส่วนใหญ่กลับบ้านต่างจังหวัด และทำอาหารกินในครอบครัว และอาจมีเมนูที่ทำจากหมู และปรุงไม่สุก เช่น ลาบก้อย หลู้หมูดิบ

นอกจากนี้ผู้ที่นิยมอาหารปิ้งย่าง ที่อาจปิ้งไม่สุก หรือจิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน อีกจุดเสี่ยงงที่หลายคนมองข้าม นั่นคือ โรคไข้หูดับ อาจมากับภาชนะ เช่น ช้อนส้อม หรือตะเกียบ ที่ใช้สำหรับตัก หรือคีบเนื้อหมูดิบ เพื่อนำไปปิ้งหรือย่าง แล้วกลับมาใช้ตักอาหารอื่นๆเข้าปากต่อ ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน IMG 20190726 205215 1ขณะเดียวกันก็มีบางช่วงที่ต้องระวังเป็นพิเศษในการกินหมู นั่นก็คือช่วงฤดูฝนแบบช่วงนี้ เพราะฟาร์มหมูจะมีความชื้น และอาจทำให้หมูป่วย และติดเชื้อได้ง่าย

สำหรับโรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า “สเตรปโตคอคคัส ซูอิส” (Streptococcus suis) สามารถติดต่อสู่คนได้ 2 ทาง ประกอบด้วย

1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกาย หรือทางเยื่อบุตา

2.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน

อาการที่พบในคนที่ติดเชื้อ ได้แก่

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • คอแข็ง
  • คลื่นเหียน อาเจียน

บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ อุจจาระร่วง  บางรายติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง บางรายติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง  รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบ เสื่อมจนหูหนวกถาวร และเป็นอัมพาตครึ่งซีก

ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้ว และมักจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน  โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้นIMG 20190719 105327กรมควบคุมโรคแนะนำวิธีการป้องกันโรค 2 ทาง ประกอบด้วย

1.กินหมูสุกเท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติเชื้อ จะถูกทำลายด้วยความร้อน ดังนั้น จึงควรกินอาหารแบบปรุงสุก เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคในคน

โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึง จนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติม หรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์

2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ส่วนการป้องกันสำหรับผู้มีฟาร์มหมู คือ หมั่นทำความสะอาดฟาร์ม ด้วยน้ำยาทำลายเชื้อในโรงเรือน ผู้ปฏิบัติงานในฟาร์ม หรือโรงงานฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ได้แก่ สวมรองเท้าบู๊ท  หรือสวมถุงมือ สวมแว่นตาป้องกันในระหว่างปฏิบัติงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง 

ทั้งนี้หากผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง  ปวดศีรษะอย่างรุนแรง  เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภายหลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที และบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ หากมาพบแพทย์เร็ว จะช่วยลดอัตราการหูหนวก และการเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight