POLITICS-GENERAL

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอ ของ ‘วินด์ ขอนแก่น 2’

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอ ของบริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คำร้องที่ ๑๕๔๑/๒๕๖๖ คำสั่งที่ ๓๐๑/๒๕๖๗ ในคดีของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ๑๘๐๓/๒๕๖๖ ระหว่าง บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ ๑ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ประเภทพลังงานลม ต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขาย ๙๐ เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Scheduled Commercial Operation Date : SCOD) เร็วที่สุดภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๘ ช้าที่สุดภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๗๓ และเป็นผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่านในชั้นการพิจารณาอุทธรณ์ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุมครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๖ (ครั้งที่ ๘๔๕) เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ เห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน ๑๗๕ ราย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ประกาศรายชื่อ ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๗๓

ศาลปกครองสูงสุด

สำหรับพลังงานลม จำนวน ๒๒ ราย โดยไม่มีรายชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษา เพิกถอนมติและประกาศดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุมครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๖ (ครั้งที่ ๘๔๕) เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน ๑๗๕ ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๗๓ สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ สำหรับพลังงานลม จำนวน ๒๒ ราย ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว และคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง สมควรมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่สั่งให้ทุเลาการบังคับมติของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุมครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๖ (ครั้งที่ ๘๔๕) เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ ที่พิจารณาเห็นชอบ ผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน ๑๗๕ ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และทุเลา การบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๗๓

สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ สำหรับพลังงานลม จำนวน ๒๒ ราย ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามมติและประกาศพิพาท คงมีผลเป็นการชะลอ หรือระงับการบังคับตามผลของมติและประกาศพิพาทไว้ เป็นการชั่วคราวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ หรือต่อสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเห็นว่ ไม่สมควรมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลา การบังคับตามมติและประกาศพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสอง ตามข้อ ๑๑๕ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓

ประเด็นที่สอง มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุม ครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๖ (ครั้งที่ ๘๔๕) เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน ๑๗๕ ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๗๓ สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ สำหรับพลังงานลม จำนวน ๒๒ ราย ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า การที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมทางด้านเทคนิคและวิธีการคัดเลือก ๕ ด้าน

คือ (๑) ความพร้อมด้านพื้นที่ (๒) ความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม (๓) ความพร้อมด้านเชื้อเพลิงหรือศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน (๔) ความพร้อมด้านการเงิน (๕) ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน ที่แสดงกรอบระยะเวลาการพัฒนาโครงการ โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ยื่นมาพร้อมคำเสนอขายไฟฟ้าและเสนอรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จากนั้นคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการพิจารณาคัดเลือกตาม เกณฑ์คุณภาพ (Scoring) เรียงลำดับคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคจากมากไปหาน้อยและจัดลำดับจนกว่า จะครบตามกรอบปริมาณเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม

ศาลปกครองสูงสุด

โดยมีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าสำหรับพลังงานลมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน ๒๒ ราย เป็นจำนวน ๑,๔๙๐.๒๐ เมกะวัตต์ โดยคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการได้พิจารณาความพร้อมของผู้ฟ้องคดีพบว่า (๑) ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ไม่มีความแน่นอนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมีสัดส่วนพื้นที่ตามสิทธิการใช้ประโยชน์ต่อพื้นที่ระยะล้มของกังหันลมน้อย (๒) ผู้ฟ้องคดีไม่แสดงเอกสารความพร้อมในการจัดหาหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) จากผู้ผลิตหรือเจ้าของเทคโนโลยี (๓) ผู้ฟ้องคดีมีสัดส่วนทุนจดทะเบียนต่อปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวมทุกโครงการภายใต้นิติบุคคล

เดียวกันน้อยกว่า ๕ ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของมูลค่าโครงการ ผู้ฟ้องคดีอยู่ในลำดับที่ ๓๓ จึงไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากปริมาณเสนอขายเกินเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือ การดำเนินการของคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการจึงเป็นไปโดยชอบตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๖ ของระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงาน หมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๗๓ สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๕

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติพิพาท และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีประกาศพิพาท จึงเป็นไปโดยชอบ ตามข้อ ๑๖ และข้อ ๑๗ ของระเบียบดังกล่าวเช่นกัน อีกทั้งเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่จำต้องให้ผู้ฟ้องคดี ได้ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งก่อน ในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่ามติและประกาศพิพาทที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่ครบเงื่อนไขทั้งสามประการตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๗๒ วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและประกาศพิพาทให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๗๒ วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำขอของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ขอให้ระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ และมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุม ครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๖ (ครั้งที่ ๘๔๕) เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอ ผลิตไฟฟ้า จำนวน ๑๗๕ ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๗๓ สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight