หมอขอนแก่น ห่วงผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ กระทบเข้าถึงบริการ หลังกรมบัญชีกลาง ปรับระเบียบ รับยาทางไปรษณีย์ ต้องยืนยันตัวตนที่โรงพยาบาล หรือผ่านแอปพลิเคชัน เริ่ม 1 ต.ค. 66 สวนทางนโยบายรัฐบาลหวังใช้ดิจิทัลเฮลธ์อำนวยความสะดวกประชาชน
นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงข้อห่วงใยการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ว่า ขณะนี้รัฐบาลใหม่มีนโยบายสนับสนุนการนำดิจิทัลมาใช้ในระบบสาธารณสุข โดยส่งเสริมการรักษาแบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ให้มากยิ่งขึ้น แต่ปรากฎว่า แนวทางการจัดส่งยาถึงบ้านของข้าราชการ ที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการนั้น กลับมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบ โดยจะไม่สามารถใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ยกเว้นมีการยืนยันตัวตนตามระเบียบใหม่
ปรับระเบียบ รับยาทางไปรษณีย์
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เดิมเวลาจะส่งยาถึงบ้านนั้น แพทย์จะประสานงานกับคนไข้ว่า ยาต่อเนื่องแบบไหนที่ต้องใช้และจำเป็นต้องจัดส่งเพิ่มตามเวลาที่กำหนดที่มีการวินิจฉัยโรค ซึ่งเราก็จะใช้รหัสเลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลักมาคีย์เข้าสู่ระบบ และทำการเรียกเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง แต่ระเบียบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ระบุว่า การจะจัดส่งยาทางไปรษณีย์ต้องให้ผู้ป่วยรายนั้น นำบัตรประชาชนมาสแกนรูดบัตรที่โรงพยาบาลต้นทางทุกครั้งที่จะจัดส่งยา ซึ่งหมายความว่าก็ไม่ได้รับยาที่บ้าน เพราะผู้ป่วยต้องมาที่โรงพยาบาลเอง กลายเป็นว่าได้แค่ตรวจวินิจฉัยผ่านทางเทเลเมดิซีนแทน คนไข้ก็ต้องเดินทางมาเองอยู่ดี
ย้ำ!มีระบบตรวจวินิจฉัยเทเลเมดิซีน ควรใช้ระบบให้เป็นประโยชน์
“เรื่องนี้แปลกมาก ที่แต่ละหน่วยงานมีเป้าหมายกันคนละอย่าง เพราะหากเรามีเป้าหมาย ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการรักษา การใช้เทเลเมดิซีน ย่อมมีประโยชน์ เมื่อวินิจฉัยผ่านเทเลฯ แล้วก็ต้องส่งยาทางไปรษณีย์ หรือส่งยาไปที่ร้านยาใกล้บ้านผู้ป่วย ไม่ใช่ให้ผู้ป่วยมารูดบัตรประชาชนถึงโรงพยาบาลอีก และหากเรากลัวการเบิกจ่ายที่ผิดก็ต้องเข้มงวดกับโรงพยาบาลว่า มีระบบอะไรที่ยืนยันได้ว่าไม่ใช่เมคข้อมูลเบิกยาอย่างเดียว แต่การออกระเบียบแบบนี้ส่งผลต่อประชาชน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ยืนยันตัวผ่านแอปฯไม่สะดวกคนสูงวัยอยู่คนเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากให้ผู้มีสิทธิข้าราชการมายืนยันตัวตนที่โรงพยาบาลเองแล้ว มีทำผ่านแอปพลิเคชันหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ บอกว่า แอปพลิเคชันมี แต่จะสะดวกกับคนที่สามารถทำเองได้ ปัญหาคือ สิทธิข้าราชการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนทำไม่เป็น ที่สำคัญอยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน จริงๆ การใช้แอปฯมายืนยันตัวเองนั่นแทบไม่ต้องทำ เพราะทุกวันนี้เราสั่งจ่ายยาให้ 3 เดือน 6 เดือน อย่างกลุ่มโรคเรื้อรัง ก็จะมีการใช้บัตรประชาชนและคีย์ข้อมูลให้อยู่แล้ว ส่วนที่จะต้องมาโรงพยาบาลก็จะมาเพียงครั้งเดียวแบบจำเป็นจริงๆ เพื่อลดการเดินทาง หากต้องยืนยันที่โรงพยาบาลก็มาช่วงนั้นได้ แต่การปรับระเบียบแบบนี้ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย
“การใช้แอปพลิเคชันสร้างความยุ่งยากกับคนสูงอายุ บางคนเขาไม่ได้มีลูกหลาน จะทำอย่างไร ขณะที่สิทธิบัตรทองกลับไม่มีปัญหา เพราะมีการยืนยันตัวตนผ่านรพ.ทำให้อยู่แล้ว หรือหากกรมบัญชีกลางต้องการยืนยันตัวตนเอง ก็สามารถให้ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการทำได้ตอนมาที่โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องยืนยันทุกครั้งที่จะเบิกยา เพราะถ้าทำแบบนี้การใช้ระบบเทเลเมดิซีนก็ไม่ได้ก่อประโยชน์อย่างเต็มที่” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
สวนทางนโยบายรัฐบาลอำนวยความสะดวก ใช้ดิจิทัลเฮลธ์
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีแบบนี้สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการใช้ดิจิทัลเฮลธ์อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ ซึ่งจริงๆ ตนกำลังติดตามกับทางกรมบัญชีกลางว่า จะมีแนวทางการแก้ปัญหาการยืนยันตัวตนอย่างไร
“วิธีคิดของเราพอเห็นปัญหาแบบหนึ่ง เช่น มีคนไม่ยอมยืนยันตัวตน ชอปปิ้งยา โกงการเบิกจ่ายยา ก็มักจะออกระเบียบใหญ่มาควบคุมคนที่ทำแบบนี้ แต่คนที่ทำทำงานถูกต้องมาตลอดกลับรับผลกระทบไปด้วย แทนที่จะจัดการปัญหาตรงนั้นให้ตรงจุด” อาจารย์ มข.กล่าว
ขอบคุณข้อมูลและภาพ: สำนักข่าวHfocus
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอชลน่าน’ ลั่น Quick Win ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 100 วัน 1 ล้านโดส
- ‘หมอชลน่าน’ ปิดทาง ‘กัญชา’ เพื่อสันทนาการ ลั่นยังถือเป็น ‘ยาเสพติด’
- ‘หมอชลน่าน’ มอบนโยบาย 12 ประเด็น ประกาศลุยงาน 100 วันแรก ให้เห็น Quick Win ที่เป็นรูปธรรม