POLITICS-GENERAL

ปชป.เคาะแคนดิเดตหัวหน้าพรรค โชว์วิสัยทัศน์ คนละ 7 นาที พรุ่งนี้

ประชาธิปัตย์ เปิดให้แคนดิเดตหัวหน้าพรรค แสดงวิสัยทัศน์ คนละ 7 นาที ตอกย้ำความเป็นสถาบันทางการเมือง ยึดหลักของความถูกต้องเพื่อให้เป็นตัวอย่างในสังคม

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าพรรคได้กำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 8.30 น. สืบเนื่องจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่ง และตามข้อบังคับของพรรค มีการกำหนดให้มีการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อที่จะเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคภายใน 60 วัน

355324733 824235045727018 1163986665780308340 n

ขณะนี้พรรคได้เตรียมขั้นตอนกระบวนการไว้ โดยมีคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วยชุดคณะกรรมการจัดการประชุม ที่มีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นประธาน และชุดที่ 2 มีคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ และตน เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ปชป.) เพื่อมาดูแลในส่วนของข้อบังคับ โดยทั้ง 2 คณะได้มีการประชุม และเตรียมการไว้แล้วอย่างครบถ้วน

นายราเมศ  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยอดขององค์ประชุมมีจำนวนลดลงเล็กน้อย ซึ่งเดิมมีการกำหนดองค์ประชุมไว้ 19 กลุ่ม จากเดิมที่ได้แถลงไปก่อนหน้าคือจำนวน 374 คน ปัจจุบันมียอดรวมทั้งหมด 367 คน เนื่องจากมีองค์ประชุมบางท่านไม่สะดวกเข้าร่วมประชุม จึงทำให้ยอดองค์ประชุมล่าสุดมีจำนวน 367 คน ซึ่งตามกฎหมายพรรคการเมือง มีการกำหนดองค์ประชุมที่จะต้องมาให้ครบจำนวน 250 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมการไว้ถึง 367 คน โดยระเบียบวาระที่สำคัญในการประชุมใหญ่วิสามัญมี 2 วาระ คือวาระของการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 11 ตำแหน่ง รวม 41 คน และในจำนวนนี้ได้รวมตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

“พรรคประชาธิปัตย์เราเป็นสถาบันทางการเมือง ถ้าเกิดใครจะบอกว่าเรากีดกัน ไม่ให้มีใครมาลงสมัคร หรือว่ามีการบิดเบือนไม่กระทำการข้อบังคับ ผมในฐานะที่เป็นดูแลเรื่องกฎหมายอยู่ ขอยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เราเปิดโอกาสให้กับทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับพรรค” นายราเมศ กล่าว

พร้อมกับได้ให้รายละเอียดถึงบังคับข้อที่ 31 ที่ระบุถึงคุณสมบัติของสมาชิกที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็น กก.บห. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่สมาชิกที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค เช่นผมเคยเป็นโฆษกพรรค เป็น กก.บห. ก็สามารถสมัครเป็น กก.บห. ชุดใหม่ได้ (2) เป็นหรือเคยเป็น คกก.สาขาพรรค กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกมาครบ 5 ปี ก็สามารถใช้ข้อนี้สมัคร กก.บห.ได้ (3) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ในนามพรรค (4) เป็นหรือเคยเป็น รมต. ในนามพรรค (5) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ที่ลงเลือกตั้งในนามพรรค (6) สมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่

นายราเมศ ระบุว่า ตามที่เป็นข่าวว่าจะมีสมาชิกกลุ่มหนึ่งจะขอใช้สิทธิ์ในการงดเว้นข้อบังคับ ในส่วนของน้ำหนักคะแนน 70:30 ไปใช้น้ำหนักคะแนนแบบ 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน ตนในฐานะ กกต. ปชป. มองว่า เมื่อเราเป็นพรรคที่มีระบบประชาธิปไตย หากมีการระบุไว้ในข้อบังคับ ก็สามารถที่จะใช้สิทธิ์ได้ แต่หากมีผู้ใดขอใช้สิทธิ์ในกรณีการงดเว้นการใช้ข้อบังคับพรรคข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อ ตามข้อบังคับข้อ 137 ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ตนไม่ได้พูดเพื่อเอาใจฝ่ายไหน แต่พูดตามหลักเกณฑ์ของข้อบังคับพรรคที่ระบุไว้ แต่ต้องมาดูว่าเมื่อจะใช้ข้อ 137 เพื่องดเว้นข้อบังคับว่าจะไม่ใช้น้ำหนักคะแนนแบบ 70:30 แล้ว น้ำหนักคะแนน ส.ส. ควรจะเท่ากันกับองค์ประชุมในการเลือกตำแหน่งอื่นๆ ด้วย

358112759 752399210012671 6490084040430206504 n

“เรามีหลักมีเกณฑ์ ไม่ว่าจะมีการแข่งขัน ไม่ว่าจะมีการเสนอตัวมากี่ท่าน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ภายใต้ข้อบังคับ ไม่มีใครที่จะได้เปรียบเสียเปรียบเพราะการเล่นตุกติกกับข้อบังคับของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เราเป็นสถาบันทางการเมือง ถ้าเราไม่อยู่บนหลักของความถูกต้องเพื่อให้เป็นตัวอย่างในสังคม เราคงอยู่มาถึงวันนี้ไม่ได้หรอก” นายราเมศ กล่าว

พร้อมกับเปิดเผยว่า กกต. ปชป. ได้กำหนดให้ผู้สมัครในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้แสดงวิสัยทัศน์ภายในกรอบเวลา 7 นาที เพื่อพูดถึงแนวนโยบายที่จะนำพาทุกองคาพยพของพรรคประชาธิปัตย์ ให้ก้าวเดินต่อไปในวันข้างหน้า ส่วนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ในสัดส่วน 70% เป็นบัตรสีฟ้า ส่วนของบัตรสีชมพูจะเป็นบัตรขององค์ประชุมที่มีสัดส่วนคะแนนที่ 30%
อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight