POLITICS-GENERAL

‘สุรนันทน์ เวชชาชีวะ’ ร่ายยาวเบื้องหลังพรรคสร้างอนาคตไทย ‘ไปไม่ถึงดวงดาว’

“สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” เปิดเบื้องหลัง ทำไมพรรคสร้างอนาคตไทย “เป๋” หรือ “เสียศูนย์ เสียทรง” ทำให้ไปไม่ถึงดวงดาวที่ตั้งใจไว้

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์ข้อเขียน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สุรนันทน์ เวชชาชีวะ Suranand Vejjajiva เรื่อง“บันทึกช่วยจำ สร้างอนาคตไทย” โดยเล่าเรื่องราวเป็นตอนๆ  มีทั้งหมด 5 ตอน เรื่องราวแต่ละตอนสะท้อนอะไรหลายอย่าง เมื่อครั้งที่เข้าไปอยู่ร่วมกับ พรรคสร้างอนาคตไทย ก่อนหน้านี้ นายสุรนันทน์ ได้ยื่น “ใบลาออก” เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ได้ยื่นออกจากพรรค โดยระบุเหตุผลว่า ขอลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริหารพรรค รองหัวหน้าพรรคและประธานภาคกรุงเทพฯ คณะกรรมการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสมาชิกพรรค

ตอนที่ 1 

นายสุรนันทน์ เล่าว่า ผมตั้งใจจะเขียนโพสต์นี้ ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ด้วยความที่ไม่อยาก ให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของพรรคสร้างอนาคตไทยในขณะนั้น จึงรอไว้ก่อน อย่างไรก็ตามในฐานะที่ทำงานการเมืองมานาน ทำให้ตัดสินใจเล่าบางเรื่อง เพื่อให้ผู้ที่ให้ความไว้วางใจผม และสนับสนุนผมทางการเมืองได้เข้าใจว่า อุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงปีที่แล้ว พ.ศ. 2565 ผมได้เข้าร่วมงานกับพรรคสร้างอนาคตไทย ที่มี ดร.อุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค (2 จาก 4 กุมาร) ด้วยการชักชวนจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ดร.อุตตม ที่ตกลงกันคือ ผมรับปากว่าจะช่วยหลังบ้านเรื่องการสื่อสาร และวิเคราะห์ข่าว กำหนดท่าทีทางการเมือง ต่อมา ดร.สมคิด ขอให้ผมเปิดตัวรับตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคและประธานภาค กทม. ส่วนเรื่องแคมเปญช่วยเป็นกรณีไป เพราะเจ้าภาพหลักคือ โฆษกพรรค และทีมงานโฆษก

พรรคสร้างอนาคตไทย

มีคนเตือนผมหลายคนว่า อย่าไปทำเลยจะเปลืองตัว รวมทั้ง 1 ใน 4 กุมาร ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานการเมืองรอบนี้ และผู้ใหญ่อีกหลายท่าน “สิ่งที่คุณคิด มันจะไม่ใช่ คนที่คุณเห็นและคิดว่ารู้จัก ก็จะไม่ใช่”

ผมขอบคุณในทุกคำเตือน ที่ผมเดินหน้าร่วมงานกับสร้างอนาคตไทย เพราะผมคิดเพียงว่า น่าจะดีถ้ามีพรรคการเมืองใหม่ ที่มีนโยบายวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง มีแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจน และมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ที่น่าจะทำงานเป็นบริหารงานได้ ผมยอมรับว่า ตอนนั้นผมเชื่อว่าแนวคิดของ ดร.สมคิด อาจเป็นทางออกหนึ่งของประเทศได้ 

พรรคสร้างอนาคตไทย

ในขณะเดียวกัน ผมต้องการเห็นพรรคการเมืองที่เป็นพรรคมวลชน มีประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง มีประชาชนและสมาชิกพรรคที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์สร้างพรรคให้เข้มแข็ง และนั่นคือเหตุผลหลักที่กลับเข้าสู่วงการเมือง หลังจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 และใช้เวลา 7-8 ปีที่ผ่านมาทำธุรกิจร้านอาหารร้านกาแฟ

ตอนที่ 2

เมื่อรับเป็นรองหัวหน้าพรรคและประธานภาค กทม. ก็ได้เข้าร่วมประชุม “คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค” ด้วย การได้นั่งประชุมยุทธศาสตร์ เรื่องหนึ่งที่ผมดีใจ คือ การได้ทำงานร่วมกับพี่นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สำหรับ พี่นิพิฏฐ์ผมได้ปะทะคารมด้วยหลายครั้งหลายหนในยุคที่ “พรรคไทยรักไทย” ต่อกรกับ “พรรคประชาธิปัตย์” แต่สมัยนั้นนักการเมืองให้เกียรติซึ่งกันและกัน ฟาดฟันกันด้วยเหตุผลและความคิดต่าง แต่ใช่ว่าจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้ บนโต๊ะประชุม “พรรคสร้างอนาคตไทย” พี่นิพิฏฐ์กับผมหยอกล้อและหยิบยกเรื่องเก่าๆ มาแซวกันอย่างสนุกสนาน พี่นิพิฏฐ์ เป็นนักการเมืองน้ำดีฝีปากกล้า และผมยังคงความเคารพพี่เขาเสมอจนทุกวันนี้

อีกคน คือ พี่สุพล ฟองงาม ผมรู้จักพี่สุพลที่พรรคไทยรักไทย เคยเจอแต่ไม่ได้ร่วมงานกันโดยตรงยุคตั้ง “พรรคความหวังใหม่” แต่ต่างถือว่าเป็นลูกน้อง “นายจิ๋ว” พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ด้วยกัน พี่สุพลเป็นคนมีน้ำใจ เป็นนักการเมืองน้ำดี และอาจเป็น “คนดี” เกินไปสำหรับการเมืองที่เชือดเฉือนกันโหดในอุบลราชธานี ผมห่วงพี่สุพลเมื่อทราบว่าไม่ค่อยสบาย ถึงจะผ่านจุดวิกฤตมาแล้ว แต่ภาระ “แม่ทัพอีสาน” นั้นหนักหน่วง ต้องต่อสู้กับ “พรรคเพื่อไทย” ที่แข็งแกร่ง และ “พรรคภูมิใจไทย” ที่เติบโตอย่างห้าวหาญ ตลอดจนตัวสอดแทรกใหม่ “พรรคไทยสร้างไทย” ภายใต้การนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
พี่นิพิฏฐ์ พี่สุพล และผม เป็น “นักการเมือง” เพียง 3 คนบนโต๊ะของสร้างอนาคตไทย ที่ผ่านการเมือง การเลือกตั้ง ในแต่ละบทบาท กว่า 30 ปี และเคยนั่งในสภาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

พรรคสร้างอนาคตไทย

ส่วน ดร.อุตตม และนายสนธิรัตน์ อาจบอกตัวเองว่า เคยนั่งเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคใหญ่อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” มาแล้ว แต่สิ่งนั้นท่านได้มาเพราะ “กำลังภายใน” ของ ดร.สมคิด ในการผลักดัน และ “พลังพิเศษ” ของ “3 ป.” ที่ตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ ดังนั้น “กระสุนดินดำ” จึงพร้อม และ “ทรัพยากร” มีไม่จำกัด ด้วยอยู่ในอำนาจที่เบ็ดเสร็จมานานอย่างต่อเนื่อง

ถ้าจะให้เถียงกับ ดร.อุตตม เรื่องนโยบายการคลัง หรือนายสนธิรัตน์ เรื่องพลังงาน หรือแม้แต่เรื่องยุทธศาสตร์การตลาดกับ “กูรู” อย่าง ดร.สมคิด ผมคงไม่กล้า ยอมรับว่าความรู้น้อยกว่า แต่ถ้าเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง และการสื่อสาร ด้วยเคยเป็นทั้งโฆษกพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ดูแลเรื่องสื่อ ผมว่าผมไม่แพ้ใคร ยิ่งมีพี่นิพิฏฐ์และพี่สุพลด้วย องค์ความรู้ที่รวมกันน่าจะพอเอาตัวรอดได้
นอกเสียจากที่ผมได้ยินว่า ต้องการสร้าง “พรรค” ที่เป็น “สถาบันการเมือง” นั้น ผมหูฝาดและเข้าใจผิดไปเอง!!

ตอนที่ 3

“คีย์เวิร์ด” ที่เกี่ยวข้องภายในบริบทมี 3 คำ คือ “กระแส” “สไนเปอร์ – Sniper” และ “ทุน”

ถ้าจะถกเถียงในทุกมิติถึงพรรคการเมืองในอุดมคติ คงต้องเขียนหนังสือเป็นเล่มๆ ไม่ใช่มาเขียนโพสต์เป็นบันทึกช่วยจำเช่นนี้ ดังนั้นผมจะเขียนถึง “พรรคการเมือง” เฉพาะในมิติที่ผมคิดว่า ทำให้พรรคสร้างอนาคตไทย “เป๋” หรือ “เสียศูนย์เสียทรง” ทำให้ไปไม่ถึงดวงดาวที่ตั้งใจไว้ “คีย์เวิร์ด” ที่เกี่ยวข้องภายในบริบทดังกล่าว มี 3 คำ คือ “กระแส” “สไนเปอร์ – Sniper” และ “ทุน”

1. กระแส นักการเมืองชอบพูดว่า เราต้อง “สร้าง” กระแสเพื่อให้พรรคและ/หรือผู้สมัครได้รับความนิยม และ “แปลง” กระแสนั้น ให้เป็นคะแนน เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งองค์ประกอบที่ทำให้เกิด “กระแส” มีหลายปัจจัย ตั้งแต่การนำเสนอนโยบายที่ถูกใจ ตรงตามความต้องการของประชาชน การสื่อสารในนโยบายนั้นๆให้ประชาชนเข้าใจ ผู้สมัครมีฐานความนิยมส่วนตัว ผู้นำมีผลงานและสื่อสารได้โดนใจ รวมถึงการทำงานจัดตั้งในพื้นที่ที่เข้มแข็ง ฯลฯ

แต่ปัจจุบันหลายพรรคและนักการเมืองหลายคนคิดเพียงว่า ถ้าจัด “อีเว้นท์” หรือทำ “โซเชียล” ก็เพียงพอแล้ว จึงทุ่มงบประมาณไปตรงนั้น ถ้าถามว่าสำคัญไหมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่สำคัญ แต่ในบริบทของการตลาด โดยเฉพาะการเมืองที่เป็นเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ การได้เห็นตัวเป็นๆ ได้พูดคุย และสำคัญสุดในยุคนี้ คือ ประชาชนต้องการคนไปพูดไปปราศรัย เท่ากับไป “ฟัง” ปัญหาความทุกข์ยากของเขา

การสร้างกระบวนการที่มีผู้สมัครและทีมงานในแต่ละพื้นที่จึงเป็นปัจจัยในการสร้างกระบวนการ “ปากต่อปาก – Word of Mouth” เมื่อได้ฟัง ทำความเข้าใจ รับรู้ปัญหา มีความสัมพันธ์เอาใจเขามาใส่ใจเรา ความศรัทธาจะเกิด และทำให้คนกลุ่มนั้นเป็นตัวแทนไปบอกญาติพี่น้องให้เลือกพรรคและผู้สมัคร มากกว่าเต้นแร้งเต้นกาใน TikTok หรือพูดแบบสัญญาพร่ำเพรื่อ หรือฉันดีฉันเก่งอย่างไร เสียเวลาเปล่า
โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่อย่าง “สร้างอนาคตไทย”

พรรคสร้างอนาคตไทย

ในการจัดตั้งทีม กทม. ผมได้ใช้ยุทธศาสตร์นี้ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ดร.อุตตม ผมขอส่งคนลงเต็มพื้นที่ทั้งๆ ที่การแบ่งเขตยังไม่ชัด และ ดร.สมคิด ยังไม่เปิดตัว แต่ทุกเขตต้องมีคนอาสาเดิน ส่วนจะได้เป็น “ผู้สมัคร” ตัวแทนพรรคตัวจริงหรือไม่ ขึ้นกับผลงาน ทหารราบต้องรู้พื้นที่ เข้าใจความต้องการของประชาชน และพรรคต้องหล่อหลอมคน 33 คน ตลอดจนทีมงานให้มีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน และช่วยเหลือซึ่งกันละกัน ผมเร่งการอนุมัติผู้ประสานงานในพื้นที่ และการเปิดศูนย์ประสานงาน เราเริ่มเดินพื้นที่เต็มกำลัง เมื่อชื่อสร้างอนาคตไทย ยังสับสนในหมู่พรรคตระกูล “สร้าง” เราเริ่มใช้ #ทีมสมคิด และพูดกับประชาชนเลยว่าเป็น “พรรค ดร.สมคิด” หรือ “พรรคสมคิด” จากนิด้าโพลล์และการประเมินต่างๆ “กระแส” ในกรุงเทพฯของ ดร.สมคิด และพรรคมีคนรู้จักมากขึ้น ดร.อุตตม ทราบข้อมูลดี

แต่กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย กระแสที่จะให้กระหึ่ม ย่อมต้องมีการเดินเกมที่กว้างพอ และลึกในหลายจุดที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย การทำกระแสต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า จุดเปลี่ยน (Tipping Point) อยู่ ณ จุดใด และทุกปัจจัยทั้งกองทัพบนบก และสื่อสารทางอากาศ ทำงานสู่จุดนั้นหรือไม่

น่าเสียดายที่ต่างจังหวัดยังเงียบ กระแสไม่เกิด ปริมณฑลของ กทม. 5 จังหวัด คนเดินไม่ครบเขต พรรคตั้งใจจะชูนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงตะวันออก (EEC) เพราะเป็นการริเริ่มของ ดร.สมคิด แต่กลับแทบไม่มีตัวผู้สมัคร ภาคเหนือเป็นรูโบ๋ใหญ่ ภาคกลางหรอมแหรม และแม้ถึงจะมีการบอกว่าจะเน้นภาคใต้ แต่การบริหารจัดการกลับไม่เป็นระบบ ผมไม่โทษประธานภาคแต่ละคน และไม่อยากเปิดเผยเบื้องหลังที่ไม่จำเป็น แต่ความล้มเหลวที่จะสร้างกระแสมาจากผู้บริหารพรรคโดยตรงที่ขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

นั่นคงเป็นจุดที่ทำให้มีข่าวว่า ผมขัดแย้งกับบางคนในคณะยุทธศาสตร์พรรค ผมเถียงไม่ชนะ พูดแรงแบบตรงๆ ก็พูด พูดแบบนิ่มนวลก็ทำ แต่พรรคไม่ปรับ และเมื่อไม่ปรับ ไม่ทำ ประชุมแต่ละสัปดาห์มีแต่เรื่อง “ธุรการ” และผมบอก ดร.อุตตม ว่า ถ้าเดินอย่างนี้ “ไปไม่รอด” มองกลับไป ผมและทีมงานยังคงเชื่อว่า “โมเดล” ของเราถูก แต่พอดีมันอาจไม่ใช่โมเดลที่ผู้บริหารพรรคต้องการ เพราะดูเหมือนเขาต้องการใช้โมเดลยุทธศาสตร์ “สไนเปอร์” มากกว่า

ตอนที่ 4

2. สไนเปอร์ บอกตรงๆ ผมไม่เข้าใจคนที่พูดคำนี้หรอก และคำจำกัดความทางการเมืองยังไม่บัญญัติชัด แต่วิธีการ คือ การวางเป้าหมายผู้ลงสมัครไว้ และ “ยิง” ให้แม่น เพื่อให้เข้า “วิน” พรรคการเมืองบางพรรคก็พึ่ง “บ้านใหญ่” ในแต่ละจังหวัด เพราะเปอร์เซ็นต์ความชัวร์ว่าจะเข้าป้ายมีสูงกว่าคนอื่น บางทีก็มีการเปิดพื้นที่รอ เพื่อ “เจรจา” เงื่อนไข

บางพรรค โดยเฉพาะพรรคใหม่พรรคเล็ก ทรัพยากรอาจจำกัด ส่งลงเป็นจุดๆ กะได้ 7-10 ที่นั่ง ไว้ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ซึ่งในความเห็นผม เป็นการเมือง “เก่า” มากๆ การส่งลงเฉพาะจุดจะไม่มี “กระแส” ในภาพรวมเป็นแรงส่ง ถ้าสอบผ่านคือความสามารถเฉพาะตัวจริงๆ

ผมไม่ต้องการมาอยู่ในพรรคที่ผู้บริหารบางคนเห็นแก่ตัว คิดสร้างฐานเฉพาะพรรคพวก เพียงเพื่อกลับไปเป็นรัฐมนตรี ในขณะที่ปากบอกต้องการสร้างพรรคที่เป็น “สถาบันการเมือง” ยิ่งมีปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่รับการเมืองเก่าและต้องการความเปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน “กระสุน” ฝ่า “กระสุน” กันเองเหนื่อยแล้ว แต่อาจไม่สามารถฝ่า “กระแส” ได้ โดยเฉพาะในเขตเมือง กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก และเขต 1 ทั่วประเทศ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นพื้นที่เป้าหมายของ “ก้าวไกล”

ความเป็น “บ้านใหญ่” ก็ไม่ใช่การเมืองเก่าเสมอไป ผู้ใหญ่ในบ้านใหญ่หลายคนผมรู้จัก และให้ความเคารพนับถือ ทุกคนปรับตัว ส่งรุ่นลูกรุ่นหลานเข้าประชัน และไม่ว่าจะบ้านใหญ่ บ้านเล็ก หรือไม่มีบ้าน ทุกคนอยากชนะเลือกตั้งทั้งสิ้น และปัจจัยเรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยใหญ่สุด ในขณะเดียวกันผมเห็นด้วยว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูประบบระดมทุนและกติกาการใช้เงินในการเลือกตั้ง (Campaign Finance Reform)

แต่ประเด็นตรงนี้ที่ผมอยากทำความเข้าใจคือ ถึงแม้ทุกคนจะมี “ราคา” (Everybody has a Price) แต่ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อได้ด้วยเงินอย่างเดียว นักการเมืองต้องฟังประชาชน เขารับเงินมา ยิงไป ตกมาเยอะแล้ว เพราะประชาชนไม่เอา ไม่ศรัทธาพรรค ไม่ชอบนโยบาย ไม่เชื่อผู้นำ คนจะลงเลือกตั้งจึงไม่ใช่ “สินค้า” ที่นักการเมืองสไตล์ “พ่อค้า” ชอบคิด

พรรคสร้างอนาคตไทย

การได้นักการเมืองที่พูดคุยถูกคอ คนในพื้นที่รับได้ ไปไหนไปกัน ควักเองก็ได้ ผมเห็นมาหลายคนแล้ว และยังคบอยู่ด้วยหลายคน ที่อยู่ในหัวใจประชาชน คือ ผลงาน นี่คือเหตุผลที่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ยังชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด ถึงแม้ครั้งล่าสุดด้วยกลการเมืองจะไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ตาม ส.ส. อยากย้ายพรรคออกจากเพื่อไทยต้องคิดหนัก เพราะผลงานในอดีตคาคอ

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นรัฐบาล แต่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว คนมองว่าเป็น “พรรครัฐราชการ” ซึ่งมีปัญหาทั้งบทบาทและภาพลักษณ์ เพราะประชาชนเหมารวมข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ หลายคนที่ผมได้คุยด้วยช่วงลงพื้นที่จะบ่นถึงเรื่องคอรัปชั่น และการที่ราชการกลับมา “ปกครอง” มากกว่า “ให้บริการ” ประชาชน

สำหรับผมพรรคที่น่าสนใจในเรื่องผลงานคือ “พรรคภูมิใจไทย” ผมเห็นหลังเสื้อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีวรรคสั้นๆ “พูดแล้วทำ” ซึ่งสะท้อนภาพของพรรค และ “ครูใหญ่” นายเนวิน ชิดชอบ ที่เป็นนักเลง “ใจนักเลง” คำไหนคำนั้น กติกาเงื่อนไขชัดเจนในทุกดีล ผลงานในรัฐบาลอาจมีคนตั้งคำถาม แต่โครงการถึงมือประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ของ ส.ส. ภูมิใจไทย รอบนี้ภูมิใจไทยเบ่งกล้ามเต็มที่ ผลการเลือกตั้งคาดกันว่าอาจถึง 100 ที่นั่ง
ช่วงผมลงพื้นที่ ผมไปเปิดศูนย์ประสานงานให้ว่าที่ผู้สมัครคนหนึ่ง

ผมถามผู้นำชุมชนว่าเขาอยากเห็นเขตนี้ของเขาเป็นอย่างไร เขาตอบว่าชาวบ้าน “อยากให้เป็นอย่างบุรีรัมย์”!!! เมื่อผมขึ้นเวที ผมปราศรัยว่า ผมจะให้ผู้แทนของสร้างอนาคตไทยเป็นทั้งนักพัฒนา และเป็นผู้แทนในสภาฯ ผลักดันเรื่องต่างๆเพื่อให้เขตนี้เจริญเหมือนบุรีรัมย์ คนตบมือเกรียวพร้อมเสียงเชียร์ แล้วจะไม่ให้ภูมิใจไทยหวังที่นั่งในกรุงเทพได้อย่างไร

331392146 736222881341875 5708175815337068339 n

พรรคใหม่อย่างสร้างอนาคตไทยจะ คิดเป็นการเมืองเก่าไม่ได้ ผลงานในอดีตของ ดร.สมคิด ติดกับไทยรักไทย และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะไปเคลมเฉยๆไม่ได้ ขณะที่ผลงานอีกด้านของ ดร.สมคิด-ดร.อุตตม-นายสนธิรัตน์ ก็ติดกับภาพพรรคพลังประชารัฐ ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ย่อมต้องเคลมไป (ช่วงนี้ก็แย่งกันบลั๊ฟหน่อย สนุกดี)

ผมถึงเห็นไม่ตรงกับผู้บริหารพรรค เพราะผมว่า สร้างอนาคตไทย ต้องขายชุดความคิดใหม่ ขายทางออกในอนาคต หลังภาวะโรคระบาด และทำการเมืองใหม่ที่ส่งคนรุ่นใหม่ลงสมัคร เหมือนพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2544 และพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลในปัจจุบัน มี ส.ส. ใหม่ “นกแล” เข้ามาจำนวนมาก บางคนที่เดินๆช่วยหาเสียง ไม่ได้คาดหวังมาก ได้เป็น ส.ส. โดยไม่รู้ตัวก็มี

ความขัดแย้งเป็นทั้งเรื่องอุดมการณ์ และยุทธศาสตร์ในการบริหารพรรค ซึ่งทำให้ผมไม่สบายใจอย่างมาก แต่ก็ห่วงผู้สมัครที่เดินหาเสียงใน กทม. ด้วยความผูกพันจึงพยายามที่จะเดินต่อ แต่ในที่สุดก็ไม่รอด

ตอนที่ 5 

คำพูดแรกได้ยินกับหูตัวเอง “เราไม่ได้ลงขันกับเขา ต้องให้คนลงขันตัดสินใจ” คำพูดที่สอง “..เป็นคนระดมทุนมา ถ้าเขาจะเอาอย่างนั้น ก็ทำอะไรไม่ได้”

3.ทุน ใครบอกว่าทำการเมืองไม่ใช้เงิน ก็ต้องใช้คำว่า “ไร้เดียงสา – Naive” สำหรับประเด็นเรื่องทุน ผมขอสรุปด้วย 2 คำพูด
คำพูดแรกได้ยินกับหูตัวเอง คือ “เราไม่ได้ลงขันกับเขา ต้องให้คนลงขันตัดสินใจ” ผมได้แต่ถอนหายใจ
คำพูดที่สอง คนที่ได้ยิน คือ อาจารย์สันติ กีระนันทน์ “...เป็นคนระดมทุนมา ถ้าเขาจะเอาอย่างนั้น ก็ทำอะไรไม่ได้” อาจารย์สันติตอบกลับว่า “เราไม่ใช่ทาสในเรือนเบี้ยใคร” แล้วตามด้วยใบลาออก ผมว่าผม “Dog Mouth” แล้วนะ อาจารย์สันติภาษาไทยแข็งแรง ผมได้แต่คิด “ข้าน้อยขอคารวะ”

พรรคการเมืองไม่ใช่บริษัท ถ้านักการเมืองคิดแค่เรื่องใครเป็นนายทุน ใครเป็นเจ้าของเงิน โดยต้องฟังคำสั่งคนคนนั้นเพียงคนเดียว ผมเองก็ขอไม่รวมสังฆกรรมด้วย
ที่ผมเขียนบันทึกช่วยจำชุดนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะต่อล้อต่อเถียงกับใครอีก และไม่ได้คิดเป็นคดีความกับใครด้วย อาจมีคนตำหนิว่าผมเอาเรื่องข้างในมาเล่า แต่เมื่อผู้บริหารพรรคได้ทิ้งพรรคกลับไปซบพรรคพลังประชารัฐแล้ว พรรคสร้างอนาคตไทยก็เหลือแต่ชื่อที่เขายังถือกันไว้ แต่ไร้ซึ่งเครดิตทางการเมือง แถมยังมีบางคนไปพูดต่อว่าผมเป็นคนที่ทำให้พรรคพัง ก็ว่ากันไปครับ การบันทึกบางเรื่องไว้ผมถือว่าจะทำให้คนรุ่นหลังมีบทเรียน ใครอยากทำงานการเมืองจะได้เข้าใจ และทั้งหมดเป็นมุมมองของผม ซึ่งผู้อื่นที่อยู่ในเหตุการณ์อาจคิดต่างเห็นต่าง ผมเคารพในทุกความคิดเห็นครับ

ในช่วงที่มีการเจรจากับพรรคไทยสร้างไทยเรื่องรวมพรรคกับพรรคสร้างอนาคตไทย มีว่าที่ผู้สมัครของภาค กทม. (และภาคอื่นๆ) เริ่มห่วงสถานะตัวเอง ผมได้ให้กำลังใจว่า ถ้าเราแข็งแรงในพื้นที่ก็ไม่ต้องห่วง การตัดสินว่าใครได้ลงเป็นเรื่องของโพลล์ แต่แน่นอนว่าทุกคนคงไม่ได้ลงในพรรคที่รวมแล้ว และมีหลายคนไม่สบายใจที่จะต้องเปลี่ยนแม้แต่ชื่อพรรค

ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงเริ่มติดต่อหลายคน เพื่อ “หาบ้านใหม่” ผมต้องขอบคุณทุกคนที่ผมติดต่อ และยังรับโทรศัพท์ผม พร้อมให้คำแนะนำ จะช่วยได้มากได้น้อยไม่สำคัญ แต่น้ำใจของทุกคน ผมไม่มีวันลืม ไม่ว่าจะเป็น ดร.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (พปชร.) พี่แจ๋น พวงเพ็ชร ชุนละเอียด (เพื่อไทย) พี่ใหญ่ สิรภพ ดวงสอดศรี (ผอ.พรรคภูมิใจไทย) บี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (ภท.) พี่ทวี สอดส่อง (ประชาชาติ) และผู้พันปุ่น ศิธา ทิวารี (ไทยสร้างไทย)

329024518 241523968198323 3325889085042274000 n

ผมต้องขอบคุณอย่างมากกับคุณท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ที่ให้เกียรติผมกับอาจารย์สันติได้พบและหาทางออกให้กับผู้สมัครหลายคน มีบางคนไปสมัครก่อนแล้วด้วย รวมทั้งได้คุยถึงนโยบายที่จะพัฒนากรุงเทพที่อาจารย์สันติร่างไว้ คุณท็อปเปิดตัวอดีตว่าที่ผู้สมัครของสร้างอนาคตไทยไปแล้ว แถมได้คนทำนโยบายอย่างอาจารย์สันติไปร่วมงานด้วย ขอบคุณในไมตรีนี้อย่างยิ่งครับ

ผมต้องทั้ง “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะที่รู้จักกันมานานตั้งแต่ยุค “พรรคพลังธรรม” และรอบนี้บางครั้งผมก็อยู่ในวงเจรจาเกี่ยวกับการรวมพรรค ผมเห็นด้วยกับการรวม หากทำให้พรรคที่รวมแข็งแรงขึ้น (Synergy) ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น ด้วยกติกาการเมืองที่บิดเบี้ยวทำให้พรรคเล็กอยู่ยาก ผมยังบอกน้องๆ ที่ไปลงในนามไทยสร้างไทยว่าคุณหญิงมีทักษะทางการเมืองการหาเสียงที่เก่งและควรหาโอกาสเรียนรู้

แต่สำหรับผมแล้ว ผมได้เดินหาเสียงให้ ดร.สมคิด เป็นนายกรัฐมนตรี และชุดความคิดที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าผมต้องหาเสียงให้คุณหญิงกับนโยบายบางอย่างที่ผมไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่พร้อม เมื่อพี่นิพฏฐ์ “ไขก๊อก” พี่สุพล “เว้นวรรค” ประกอบกับผมไม่ได้รับคำตอบที่เป็นบวกในการปรับปรุงพรรค ผมจึง “ลาออก” ไม่มีอะไรติดใจส่วนตัวกับคุณหญิง และหวังว่าคุณหญิงคงเข้าใจ
ต่อไปนี้เป็นคำ “ขอโทษ”

ผมต้องขอโทษหลายคนในพรรค ผมเป็นคนที่พูดตรงและแรงในบางจังหวะ ผมอยากให้งานออกมาดี คิดแบบฝรั่งคือเถียงกันให้จบบนโต๊ะ แล้วไม่ต้องไปแทงกันข้างหลัง แต่ผมคงหลอกตัวเอง เพราะนี่คือ “การเมืองไทย” อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอโทษคุณนริศ เชยกลิ่น (Naris Cheyklin) โฆษกพรรค และน้องๆ รองโฆษกทุกคน หากผมพูดแรงและทำให้ไม่สบายใจ ผมขออภัย
ดร.อุตตม บอกผมว่า หากพูดแรงเป็น Disruption ผมกลับเห็นว่า ถ้ายังทำกันไปเรื่อยๆ ก็ “ลงเหว” Disruption อาจจะ reset ทิศทางให้ดีขึ้นได้

ผมต้องขอโทษผู้สมัครและทีมงานภาค กทม. ทุกคนที่ผมนำทางไม่ถึงฝั่ง ได้แต่ฝากฝังคนอื่นไปต่อ ผมรักและเข้าใจทุกคน หวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้

ผมต้องขอโทษประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ผมได้ลงพื้นที่ไปพบ ไปชักชวนให้มาร่วมงาน ชักชวนให้เป็นสมาชิก

สุดท้าย และสำคัญที่สุด ผมต้องขอโทษประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ผมได้ลงพื้นที่ไปพบ ไปชักชวนให้มาร่วมงาน ชักชวนให้เป็นสมาชิก พูดคุยรับฟังความคิดเห็น และขอให้พิจารณาพรรคสร้างอนาคตไทย ขอให้สนับสนุน ดร.สมคิด เป็นนายกรัฐมนตรี

ผมไม่ทราบว่า ผู้บริหารพรรคจะมีการกลับซบพลเอกประวิตรและพรรคพลังประชารัฐ ผมรับไม่ได้ถ้าจะต้องอยู่ในสภาพของการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ที่ไม่มีความหวังใหม่อะไรให้กับประชาชน ดีที่ผมลาออกมาก่อน
แต่ผมไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ขอโทษประชาชนที่ศรัทธาให้ความไว้วางใจกับพรรค กับตัวผม กับตัวผู้สมัครในภาค กทม. ที่ผมดูแล

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight