Opinions

เปิดหวูด ‘รถไฟจีน-ลาว’ นัยต่อเศรษฐกิจไทย

Avatar photo
961

รถไฟจีน-ลาว อยู่ภายใต้โครงการ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) ของรัฐบาลจีน ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนของการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีระยะทางจากคุนหมิง ถึงเวียงจันทน์รวม 922.5 กิโลเมตร และใช้เวลาในการขนส่ง 8 ชั่วโมง โดยสถานีสุดท้ายสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ ลาว ซึ่งห่างจากจังหวัดหนองคายเพียง 24 กิโลเมตร

เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องคาดว่า จะมีการขนส่งสินค้า 5 เที่ยวต่อวัน และขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 2 เที่ยวต่อวัน ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านตัน และขนส่งผู้โดยสารได้ปีละ 0.5 ล้านคน โดยในระยะถัดไป จะเพิ่มรอบการขนส่งสินค้าเป็น 14 เที่ยวต่อวัน และขนส่งผู้โดยสาร 4 เที่ยวต่อวัน

รถไฟจีน-ลาว

 

เส้นทางนี้จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ผ่านโครงการรถไฟจีน-ยุโรป และทำให้มีการเดินทางของผู้คนเพิ่มมากขึ้น บทความนี้จึงอยากนำเสนอการวิเคราะห์โอกาส ความท้าทาย และปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของไทยจากการเปิดหวูดรถไฟใหม่นี้

รถไฟจีนลาว

โอกาสและความท้าทายของไทย

ในระยะสั้น ไทยจะได้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟที่มาอยู่ใกล้ไทยใน 4 ด้าน คือ

  1. ด้านสินค้า
  2. ด้านการลงทุน
  3. ด้านการท่องเที่ยว
  4. ด้านการขนส่ง

ด้านสินค้า

ไทยมีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น รถไฟสายนี้จะใช้ขนส่งสินค้าเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนเที่ยวเดินรถไฟของสินค้า ที่มากกว่าการขนส่งคน แม้คาดว่า การนำเข้าสินค้าจีนมาไทยจะมีมากขึ้น แต่สินค้าไทย ก็มีแนวโน้มที่จะส่งออกได้มากขึ้น เพราะไทยมีตลาดในจีนตอนใต้อยู่แล้ว

  • อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์ฮาลาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนยอดนิยม (Cross-border E -commerce หรือ CBEC)

รถไฟจีน-ลาว

เนื่องจากจีนตอนใต้ มณฑลยูนนาน และข้างเคียงมีประชากรมากกว่า 210 ล้านคน ที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู พบว่า รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนระบบนิเวศการค้าที่เอื้อต่อกลุ่ม SMEs ที่มีช่องทางการขายแบบ CBEC ดังนี้

  1. ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า
  2. ไม่เสียภาษีศุลกากร
  3. ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม
  4. การตรวจสินค้าที่เข้มงวดน้อยกว่า

ทำให้ SMEs สามารถเข้าไปทดลองตลาดได้ง่าย และสะดวกกว่าการค้ารูปแบบเดิม ส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง

  •  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ (ผลไม้ ข้าว ยางพารา และไก่แช่แข็ง) ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่ส่งออกทางเรือมากกว่า 80%

รถไฟจีน-ลาว

การใช้เส้นทางนี้จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย และยังสามารถกระจายความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าขนส่งทางเรือที่แพง รวมถึงการจราจรที่แออัด จากเส้นทางขนส่งเดิม ส่งผลให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้

ความท้าทายมาจากสินค้าจีน ที่มีแนวโน้มเข้าไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะสินค้า CBEC อาทิ กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าแฟชั่น ที่การนำเข้ามาไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวกว่า 275%

ทั้งนี้ ยังพบว่ามีทุนจีนได้เข้ามาตั้งโกดังสินค้าขนาดใหญ่และบริษัทโลจิสติกส์หลายแห่งในลาว เพื่อรองรับสินค้าก่อนกระจายข้ามมาไทยต่อไปด้วย

ด้านการลงทุน

ไทยมีโอกาสทั้ง FDI และ TDI โดยจะมี FDI จากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และ TDI จากนักลงทุนไทย ที่จะไปลงทุนในลาว เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและลดต้นทุนการขนส่ง

  • ด้าน FDI

นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น จากสงครามการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐ ที่ทำให้จีนย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากนักลงทุนจีน ที่มีความสนใจมาซื้อที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน

หากจีนมาลงทุนที่ไทยเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น และมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ผ่านการกระจายการลงทุนสู่ภูมิภาค โดยธุรกิจที่จีนสนใจมาลงทุนในไทย มีดังนี้

  • บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และพลาสติก รวมถึงผลิตยางล้อ ซึ่งเป็นซัพพลายเชนส่งออกไปจีน
  • บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์รวบรวมและกระจายวัตถุดิบด้านอาหาร/สินค้า CBEC และอุตสาหกรรมประกอบรถจักรยานยนต์ EV

รถไฟจีน-ลาว

สาเหตุการเข้าลงทุน

  • มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อม ที่เหมาะต่อการเข้ามาอยู่อาศัยและทำธุรกิจ
  • มีแรงงานที่มีทักษะเป็นจำนวนมาก
  • มีความสัมพันธ์อันดีกับจีน ซึ่งมีสมาคมนักธุรกิจเชื้อสายจีนจำนวนมาก

รวมทั้งมีการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องกับจีนกว่า 36 คู่ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่กับมหานครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน เพชรบูรณ์กับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน และขอนแก่นกับนครหนานหนิง มณฑลกวางสีจ้วง เป็นต้น

  • ด้าน TDI

นักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนในลาว ในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่

  • ธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์

ในรูปแบบการร่วมทุนกับผู้ประกอบการลาว เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ในการเดินรถข้ามไปยังประเทศข้างเคียง

  • ธุรกิจบริการที่ไทยมีความถนัด

อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และนวดสปา อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยควรศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้า และการลงทุนให้ดีก่อนเข้าไปลงทุน

  • ธุรกิจเกษตร และปศุสัตว์

เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกไปจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ตลอดจนการมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลจีนและลาว

  • อุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยี และซัพพลายเชนในเขตการค้าเสรี หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ

มีสิทธิประโยชน์และเอื้อต่อการลงทุน รวมทั้งการที่ลาวได้สิทธิ GSP ในการส่งออกไปยังประเทศที่ 3

รถไฟจีน-ลาว

ด้านการท่องเที่ยว

เป็นโอกาสของไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มจีนตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่จะเข้ามาเที่ยวไทยแบบกลุ่มทัวร์เป็นจำนวนมาก

คนจีนในมณฑลยูนนาน ที่เป็นต้นทางของรถไฟสายนี้ มีจำนวนประชากรกว่า 47 ล้านคน ซึ่งหาก 1% ของประชากรเหล่านี้ มาท่องเที่ยวในไทย คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทต่อปี

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังมีโอกาสรองรับนักธุรกิจจีนที่อยู่ในลาวกว่า 1 ล้านคน ที่อาจข้ามมาเที่ยวในไทย โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนนิยมท่องเที่ยวในเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ขณะที่การท่องเที่ยวไปเมืองรองยังคงมีข้อจำกัด

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ในระยะแรก การท่องเที่ยวอาจไม่ได้เป็นโอกาสหลักของไทย คือ การที่ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีน เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ โดยคาดว่าทางการจีนจะอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงปี 2565-2566 หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น

นับเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะสามารถอาศัยช่วงเวลานี้ ในการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวแบบ New Normal ที่จะหลั่งไหลเข้ามาตาม Pent-up Demand หลังจีนเปิดให้ประชาชนออกนอกประเทศได้อีกครั้ง

รถไฟจีน-ลาว

ด้านการขนส่ง

จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการได้ และเป็นอีกทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่ง

จากการศึกษาของธนาคารโลก ที่เปรียบเทียบค่าขนส่งระหว่าง 4 เส้นทาง พบว่า ประมาณการค่าขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาวที่เชื่อมต่อมายังไทยด้วยรถบรรทุกจะช่วยลดค่าขนส่งได้กว่า 1 ใน 3 ของค่าขนส่งทางถนนเดิม และหากรถไฟจีน-ลาวเชื่อมกับรถไฟไทยโดยสมบูรณ์ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่าครึ่งของการขนส่งทางถนนเดิม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จะได้ประโยชน์จากการขนส่งแบบ Multimodal Transportation (รถบรรทุกไทยจะขนสินค้าไปเชื่อมกับรถไฟที่ลาว)

ในระยะต่อไป หากรถไฟไทยสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาวได้โดยสมบูรณ์ จะมีปริมาณการใช้เส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้น และเส้นทางนี้ อาจเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าจากจีน ไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์ แทนการขนส่งทางถนน และทางเรือบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การค้าโลกยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประเด็นการขนส่งจึงอาจยังไม่ใช่โอกาสสำคัญหลักที่ไทยจะได้รับในระยะสั้น ซึ่งไทยสามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมเส้นทางให้พร้อมรองรับการขนส่งที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

รถไฟจีน-ลาว

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของไทยจากการเปิดหวูดรถไฟจีน-ลาว

จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น งานศึกษานี้มีข้อสังเกตที่อาจช่วยให้ไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสครั้งนี้เพิ่มเติม ดังนี้

การตั้งศูนย์กระจายสินค้าเบ็ดเสร็จที่ใกล้ชายแดน อาจเป็นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีหรือขอนแก่น เพื่อรองรับสินค้าที่จะเข้ามาและส่งออกไปยังจีน ซึ่งคาดว่าจะมีมากขึ้น และไทยยังไม่มีศูนย์กระจายสินค้าแบบเบ็ดเสร็จที่ครบวงจรมาก่อน

การมีโครงข่ายการขนส่งสินค้าทั้งทางรถ และทางรางที่มีความพร้อม อาทิ สถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้าในฝั่งไทย สะพานข้ามแม่น้ำโขงของหนองคาย ทั้งสะพานเดิมและใหม่ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณการขนส่ง และลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อม หากเส้นทางการขนส่งจากจีนผ่านแหลมฉบัง ไปยังประเทศอื่นมีความนิยมมากขึ้น เมื่อการค้าโลกกลับสู่ภาวะปกติ

การสนับสนุนสิทธิประโยชน์และโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุน โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของภูมิภาค ให้ทัดเทียมกับ EEC รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดและกระจายการลงทุนมายังภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับทางรางทั้งวัตถุดิบและสินค้า

การเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ได้แก่

  1. การพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรองเชื่อมโยงเส้นทางจีน-ลาว-ไทย อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวคุนหมิง-เวียงจันทน์-อุดรธานี-ภูเก็ต รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล (Off-season) ในเมืองรอง
  2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบขนส่งภายในและระหว่างจังหวัดในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของจีน อาจทำให้เกิดการแข่งขันกับธุรกิจไทยมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ดังนั้น ไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบในทุก ๆ มิติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

บทความโดย 

อภิชญาณ์ จึงตระกูล สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และ ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม