Opinions

จับสัญญาณ ‘จีน’ ขยับร่วม ‘CPTPP’ ปรับยุทธศาสตร์ ‘เศรษฐกิจเชิงรุก’

Avatar photo
216

CPTPP หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก กลับมาเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกอีกครั้ง เมื่อจีนประกาศขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกในวันที่ 16 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

นับเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้ติดตามเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศไม่น้อยว่า เหตุใดจีนจึงตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ทั้งที่รับรู้กันว่า CPTPP เดิมทีมีสหรัฐเป็นแกนนำ และในเวลาต่อมา จีนได้แยกไปเป็นแกนนำใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP) มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ เริ่มเจรจากันเมื่อปี 2555

เมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น CPTPP ซึ่งเกิดขึ้นจากข้อตกลงเดิมที่ชื่อว่า “ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (TPP) เริ่มเจรจากันตั้งแต่ปี 2551 มีสมาชิก 12 ประเทศ โดยมีสหรัฐเป็นแกนนำ

LINE ALBUM CPTPP ๒๑๑๐๐๑

ต่อมาในปี 2560 ยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐประกาศถอนตัวออกจาก TPP ทำให้เหลือสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม และได้เปลี่ยนชื่อข้อตกลงจาก TPP เป็น CPTPP โดยมีผลบังคับกับประเทศสมาชิก ที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม ตั้งแต่ธันวาคม 2561

ต่อข้อสงสัย ถึงท่าทีจีนในการเข้าร่วม CPTPP ครั้งนี้ ผมมองว่า จีนกำลังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หลังโควิด-19  ดังนั้น การใช้โอกาสที่สหรัฐถอนตัวออกจาก CPTPP และจีนเข้าไปแทน จึงถือได้ว่า เป็นการเปิดเกมเชิงรุก ที่ชาญฉลาด และล้ำลึกในหลายด้าน คือ

1. ขณะนี้ จีนกำลังอยู่ในช่วงการปรับระเบียบเศรษฐกิจใหม่ภายในประเทศ  ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แถลงนโยบายในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงิน ของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อ 17 สิงหาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจยุคใหม่ของจีนจะมุ่งเน้นความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity มองไปที่ประโยชน์สูงสุดของชาวจีน

จีนเริ่มเข้าคุมเข้มธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ให้เกิดการผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ และดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชาชน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจจีนระยะสั้นอยู่บ้าง

ดังนั้นการเข้า CPTPP ของจีน จะทำให้เกิดตลาดใหม่ กระจายสินค้า และส่งออกเพิ่มขึ้น จะมาช่วยทดแทนส่วนที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบพอเหมาะพอดี

2. ปัจจุบัน RCEP ที่จีนเป็นแกนนำ มีสมาชิกอยู่ 15 ประเทศ ถือเป็นความตกลงทางเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดของโลก  หากจีนเป็นสมาชิก CPTPP ได้อีก ย่อมจะได้คู่ค้าที่ไม่ได้อยู่ใน RCEP เพิ่มขึ้นอีก ทั้ง แคนาดา เม็กซิโก เปรู และชิลี ซึ่งเป็นการขยับการค้า การลงทุน เข้าไปในดินแดนของทวีปอเมริกาอีกทางด้วย เพราะ CPTPP เป็นข้อตกลงที่ Comprehensive ในมุมของ Supply Chain จะขยายพื้นที่กว้างขึ้น

นอกจากนั้น ผลกระทบจากสงครามการค้า ระหว่างจีน กับสหรัฐ ที่แยกเศรษฐกิจ หรือห่วงโซ่การผลิตจากจีน หรือ Decoupling จีนจะได้รับผลกระทบน้อยลง เพราะมีตลาดใหม่เข้ามาทดแทนการส่งออกไปสหรัฐ

shutterstock 1944226345

3. เนื่องจาก CPTPP มีมาตรฐานสูงกว่า RCEP จะเป็นโอกาสให้จีน ใช้เป็นเครื่องมือปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง อย่างครั้งที่จีนสมัครเข้าเป็นสมาชิกในองค์การค้าโลก (WTO) หากถูกปฏิเสธจากสมาชิก CPTPP ก็ไม่เสียหายอะไร มีแต่ได้ และเสมอตัว

นอกจากนั้น ยังได้แสดงให้ชาวโลกเห็นว่า จีนพร้อมจะเป็นพันธมิตรกับทุกประเทศด้วย

4. หากสหรัฐ คิดจะหวนกลับมาเป็นสมาชิก CPTPP อีก ก็จะยิ่งทำให้ CPTPP กลับมาเป็นข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า RCEP เพราะมีสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เข้ามาเป็นสมาชิกในข้อตกลงเดียวกัน

5.การสมัครเป็นสมาชิก CPTPP ช่วงนี้ของจีน ถือเป็นการส่งสัญญาณบอกกับสมาชิก CPTPP ปัจจุบันว่า ถ้าไม่รับจีน ก็ไม่สมควรรับไต้หวัน ซึ่งกำลังสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ด้วย

การขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ จึงถือเป็นปรากฎการณ์ ที่ทุกประเทศควรติดตามศึกษาว่า ต่อจากนี้การค้าโลก และการเมืองระหว่างประเทศ จะเป็นไปในทิศทางใด โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่การค้าโลกขยายตัวลดลงอย่างมาก

ที่สำคัญ ยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวทางใหม่ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจภายใน จะเป็นตัวชี้นำทางเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง

อ่านข่าวเพิ่มเติม