Wellness

ภาวะติดเชื้อในลำไส้ อันตรายกว่าที่คิด

หวั่นประชาชนติดเชื้อในลำไส้เฉียบพลันจากท้องเสียเรื้อรัง เตือนบริโภคอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และใส่ใจสุขภาพ ป้องกันการติดเชื้อ

กรณีมีเด็กเสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษที่ จังหวัดบุรีรัมย์ สาธารณสุขส่งทีมสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมกับเตือนประชาชนระมัดระวังการบริโภคอาหาร

1560830373368 ตัด
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หมายถึง การติดเชื้อของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจากแบคทีเรีย รองลงมาคือเชื้อไวรัสและปรสิต

อาการหลักคือ การปวดท้องที่อาจเกิดได้ที่ช่องท้อง ไม่มีอาการปวดเฉพาะจุด ร่วมกับอาการท้องเสีย มีไข้ได้ โดยลักษณะอาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที เรียกว่า การติดเชื้อเฉียบพลัน

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อยทุกวัน เกือบทุกคนเคยผ่านการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารมาแล้ว เช่น อาหารเป็นพิษ ติดต่อได้ง่าย ระบาดได้ง่าย ในชุมชนต่างๆ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการรับเชื้อ เช่นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

somtum 1549340 640

การรับเชื้อมักเกิดจากการบริโภคอาหาร และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเชื้อโรคที่อยู่ในตัวผู้ป่วย ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ อาหาร และมือ เข้าสู่ปาก โดยเชื้ออาจติดอยู่ที่เครื่องมือเครื่องใช้ในการอุปโภค บริโภค เช่น ช้อน แก้วน้ำ จาน ชาม

ดังนั้นการป้องกัน โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ และการมีอาการของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ต้องดูแลประคับประคอง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำ การขาดสมดุลของเกลือแร่ ด้วยการดื่มน้ำสะอาด การใช้ยาผงเกลือแร่ และการรักษาตามสาเหตุ เช่นการติดเชื้อบางชนิดที่อาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ รวมถึงการดูแลตัวเอง ป้องกันการรับเชื้อซ้ำ และป้องกันการระบาดสู่ชุมชน

DSC 4159
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

ส่วนการสอบสวนโรคกรณีเด็กเสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษที่ จังหวัดบุรีรัมย์ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา และศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบ การเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้

โดยเบื้องต้นได้รับรายงานจากทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วว่า ผู้ป่วยรายนี้มีถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน มีอาการช็อคหมดสติก่อนนำส่งโรงพยาบาล ตรวจพบมีลำไส้อักเสบรุนแรง

ได้เก็บตัวอย่างเชื้อจากร่างกายผู้เสียชีวิตส่งห้องปฏิบัติการ คาดว่าจะได้ผลภายใน 1 สัปดาห์ และจากการสอบสวนโรคผู้ใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตไม่พบผู้ใดมีอาการท้องเสีย

“ส้มตำเป็นอาหารประกอบสดที่เป็นที่นิยม จึงขอแนะนำประชาชนใส่ใจ ตั้งแต่กระบวนการทำ วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร เช่น มะละกอ น้ำปลา ปลาร้า ปูเค็มต้องมีความสะอาดที่เพียงพอ “

อย่างไรก็ตาม อาหารบางอย่างมีวิธีการปรุงดี แต่หากทิ้งไว้นานอาจมีผลเสียต่อสุขภาพ อาจเกิดอาหารเป็นพิษได้ จึงขอให้ประชาชนยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใช้ภาชนะปิดอาหารมิดชิดป้องกันแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืนอาหารมีกลิ่นผิดปกติ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคที่มาจากน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด

261118

นพ.สุขุม ย้ำว่า โรคอาหารเป็นพิษ มักพบหลังจากที่กินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2-4 ชั่วโมง โดยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดมวนท้องรุนแรง เป็นไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย

บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด การดูแลเมื่อมีอาการอุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ หรือโออาร์เอส ผสมน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็ก และผู้สูงอายุอาจมีอาการรุนแรงต้องรีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

Avatar photo