Wellness

เช็กโรคติดต่อในเด็ก และ โรคติดเชื้อ ที่ผู้ปกครองต้องระวัง

ปิดเทอมพาลูกเที่ยวสวนสนุก คาเฟ่ ผู้ปกครองต้องระวังโรคติดต่อในเด็ก และ โรคติดเชื้อ มีอาการแบบนี้ต้องรีบพบแพทย์ด่วน!

หลังสถานการณ์โควิดและการล็อกดาวน์ที่ยาวนาน เมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ เด็กๆ กลับไปเรียนที่โรงเรียน โรคติดต่อในเด็กต่างๆ กลับมาระบาดเหมือนเดิม เมื่อมีกิจกรรมการรวมกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการไปโรงเรียน สวนสนุก หรือคาเฟ่ ทำให้เกิดการติดต่อของเชื้อโรคทางเดินหายใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งโรคทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็น  ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ RSV โรคมือเท้าปาก 

โรค

โรคติดต่อในเด็กที่พบบ่อย ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร

  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน ผ่านของเหลวที่ออกมาจากร่างกาย เช่น น้ำลายหรือเสมหะ จากการไอจามและทางลมหายใจ เชื้อโรคจะยิ่งเติบโตและแพร่กระจายได้ดีในช่วงที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนและช่วงหน้าหนาว
  • โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส   ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงหรือทางอ้อมจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารและน้ำ และมักจะเกิดการติดต่อกันในช่วงเปิดเรียน เพราะเด็กๆ มักจะกินข้าว ดื่มน้ำ ด้วยกัน มีปฏิสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ระมัดระวัง

โรคไข้เลือดออกในเด็ก (dengue fever)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ก็ยังได้ยินข่าวว่าไข้เลือดออกได้คร่าชีวิตเด็กและผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค  มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการแสดงของโรคมีตั้งแต่ ไม่มีอาการผิดปกติไปจนถึงมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่คาดเดาได้ยากว่าจะอาการรุนแรงหรือไม่

สาเหตุการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี 1 ใน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 ผ่านการกัดของยุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลืองเพศเมีย (aedes aegypti) เมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อไวรัสเดงกีช่วงที่ไวรัสแพร่กระจายในกระแสเลือด และยุงตัวนั้นไปกัดผู้อื่น เชื้อไวรัสเดงกีจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัดจนทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส

อาการของโรคไข้เลือดออกในเด็ก

เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ มีการแพร่ระบาดสลับหมุนเวียนกัน ทำให้ในแต่ละปีมีสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดแตกต่างกันออกไป ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้มากกว่า 1 ครั้ง กรณีติดเชื้อครั้งที่ 2 เกิดจากสายพันธุ์ที่แตกต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  โดยอาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะไข้สูง (febrile phase) เป็นระยะไข้สูงลอยแบบเฉียบพลัน มีไข้ 39-40 องศาเซลเซียส นานติดต่อกัน 2-7 วัน ระยะนี้มักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเบ้าตา
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดข้อ ปวดกระดูก
  • มีจ้ำเลือดบริเวณผิวหนัง
  1. ระยะวิกฤติ (critical phase) หลังระยะไข้สูงประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อก หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิต โดยมีอาการ ดังนี้
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง (บริเวณชายโครงขวา)
  • คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
  • ไม่สามารถรับประทานอาหาร
  • เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล
  • ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามผิวหนัง
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยล้า  ซึมลง
  • ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ
  • ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือช็อก อาจเสียชีวิตได้
  1. ระยะฟื้นตัว (recovery phase) หากผ่านระยะไข้สูงโดยไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤต หรือพ้นจากระยะวิกฤต 1 – 2 วัน จะเป็นช่วงระยะฟื้นตัว  โดยอาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น  ร่างกายกลับมาทำงานตามปกติ  เป็นระยะที่ปลอดภัย  มีสัญญาณ ดังนี้
  • ไข้ลดลง
  • ชีพจรเต้นปกติ
  • สามารถปัสสาวะเองได้
  • มีความอยากอาหารมากขึ้น
  • มีผื่นเป็นวงสีขาวสากๆ ขึ้นตามร่างกาย

การรักษาโรคไข้เลือดออก

เมื่อแพทย์ยืนยันผลการตรวจพบโรคไข้เลือดออก  จะเริ่มทำการรักษาด้วยการช่วยให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อกลับเข้าสู่สภาวะปกติเร็วที่สุด และป้องกันภาวะช็อก  ดังนี้

  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำ
  • รับประทานยาแก้ปวด ลดไข้
  • ดื่มผงเกลือแร่  เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ
  • ให้เลือด กรณีมีเลือดออกมาก
  • การรักษา จำเป็นต้องมีการเจาะเลือดเป็นระยะเพื่อตรวจค่าเลือด เพื่อเฝ้าระวังภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวลดต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น หรือความดันโลหิตต่ำ

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อแขนยาว
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่งและน้ำขัง
  • ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ชนิดล่าสุด อย่างแพร่หลาย ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ ได้ศูงถึง  80.2% และป้องกันอาการรุนแรงได้  90.4%  โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน  สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน 

โรคติดต่อในเด็ก

โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease : HFMD)

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus)  ที่พบบ่อย ได้แก่ คอกแซกกี (Coxsackie virus) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71: EV71) ระบาดในประเทศไทยระบาดช่วงฤดูฝน  ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แม้อาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 7-10 วัน แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการของโรคมือเท้าปาก

  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • มีน้ำมูก
  • เจ็บปาก เจ็บคอ
  • ไม่ยอมดื่มนม
  • รับประทานอาหารได้น้อยลง
  • มีตุ่มนูนแดงหรือมีน้ำใส ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้น เหงือก
  • มีผื่นขึ้นที่มือและเท้า ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มน้ำสีขุ่นตามมา สามารถฝ่อแห้งไปเองโดยไม่เหลือรอย
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากอาจรุนแรงทำให้ถึงแก่ชีวิต ดังนั้นควรหมั่นสังเกตอาการ แล้วรีบไปพบแพทย์ อาทิ
  • รับประทานอาหารลำบาก
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ซึมลง
  • ชัก
  • เยื่อหุ้มประสาทอักเสบ
  • เนื้อสมองอักเสบ
  • ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต

การรักษาโรคมือ เท้า ปาก

  • รับประทานยาลดไข้
  • ใช้ยาทาบริเวณแผลในปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ
  • รับประทานอาหารที่มีรสอ่อน
  • จิบน้ำเย็น หรือน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและความเจ็บปวด
  • งดรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือโซดาเนื่องจากมีกรด
  • รับประทานของเย็น ๆ เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม และโยเกิร์ตเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด

shutterstock 1655553835

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก 

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อไวรัสที่ออกมาทางอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบริเวณผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ติดเชื้อ การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือยึดหลักการรักษาสุขอนามัย ดังนี้

  • กรณีพบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียน ต้องทำการปิดโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กเพื่อทำความสะอาด
  • หากมีการระบาดให้พ่อแม่หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนหรือที่มีคนจำนวนมาก
  • ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลให้สะอาดทุกครั้ง ก่อน-หลังรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย
  • ตัดเล็บให้สั้น หมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ แปรงสีฟัน
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ ของเล่นและสถานที่อยู่เสมอ
  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อหรือลดรุนแรงเมื่อเป็นโรค โดยวัคซีนจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสชนิดเอนเทอโรไวรัส 71 (EV 71) ซึ่ง เป็นสาเหตุหลักของอาการรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิต สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี  โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 1 เดือน

โรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV)

โรค RSV เป็นไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม ชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus มี 2 สายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม- กันยายน แต่สามารถพบโรคนี้ในเด็กได้ตลอดทั้งปีอาการเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักเริ่มต้นด้วยไข้หวัดธรรมดา ไข้ต่ำ มีน้ำมูก และไอ หลังจากนั้นอาการจะรุนแรงขึ้น ดังนี้

  •  ไข้สูงขึ้น
  • ไอมาก
  • หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว และมีเสียงหวีด
  • มีอาการซึม
  • ไม่รับประทานอาหาร
  • ไม่ดื่มน้ำ ไม่ดื่มนม

เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์

  • เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี หากมีอาการข้างต้น ควรพามาพบแพทย์ทันที
  • ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
  • ซึมลง
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • ไอมาก
  • หายใจหอบเหนื่อย

การรักษาโรค RSV ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV  ต้องรักษาตามอาการ ดังนี้

  • ใช้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ
  • กรณีมีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะ
  • หากมีอาการขาดน้ำอาจต้องให้สารน้ำทางเส้นเลือด

การป้องกันเชื้อไวรัส RVS ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ RSV จึงควรป้องกันตัวเอง ดังนี้

  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนเพียงพอ และออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • ล้างมือบ่อย ๆ
  •  หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเปิดเทอมไปโรงเรียน หยุดอยู่บ้าน หรือออกไปเที่ยวกับคุณพ่อคุณแม่ เด็กๆ ควรได้รับการดูแลสุขภาพร่างกาย ทั้งด้านความสะอาด และเคร่งครัดด้านสุขลักษณะให้ครบถ้วนสมบูรณ์ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ  รวมถึงสร้างภูมิต้านทานให้ตัวเองแข็งแกร่ง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้ครบ เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ให้เด็กๆ มีพัฒนาการการเจริญเติบโต เป็นหนุ่มเป็นสาวสมวัย

ขอบคุณข้อมูล : พญ.วิริยาภรณ์ จันทร์รัชชกูล โรงพยาบาลสมิติเวช

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo