Wellness

รู้จัก ‘มะเร็งปอด’ ภัยเงียบคร่าชีวิต ‘สารวัตรหนุ่ม’ ไม่สูบบุรี่ก็เป็นได้

รู้จัก “มะเร็งปอด” ภัยเงียบคร่าชีวิตสารวัตรหนุ่ม” ทั้งที่ออกกำลังกาย ไม่สูบบุรี่ ต้องจากไปก่อนวัยอันควร

จากกรณี พ.ต.ต.รุ่งคุณ จันทโชติ สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งปอด โดยเล่าถึงพฤติกรรมส่วนตัว ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ชอบออกกำลังกาย ดื่มสังสรรค์บ้าง แต่ไม่สูบบุหรี่แล้วมีวันหนึ่งมีอาการปวดแขนขวา และมีอาการบวมที่คอ เมื่อไปตรวจพบว่าเป็น มะเร็งปอด ระยะลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง และเสียชีวิต ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น อาลัย สารวัตรหนุ่ม’ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอด

วันนี้ thebangkokinsight จะพาไปทำความรู้จัก “มะเร็งปอด” มากขึ้น เพื่อรู้เท่าทันป้องกันตัวเองหีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เกิดโรคนี้

รู้จักมะเร็งปอด

มะเร็งปอดมีต้นกำเนิดจากเซลล์เยื่อบุหลอดลมปอดได้รับการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน จึงเรียกชื่อตามต้นกำเนิดของมะเร็งได้อีกชื่อหนึ่งว่า Bronchogenic Carcinoma (Broncho แปลว่า หลอดลม Carcinoma แปลว่า มะเร็ง) ซึ่งอาจเกิดในบริเวณหลอดลมใหญ่ใกล้ขั้วปอด หรืออาจเกิดในหลอดลมแขนงเล็กๆ ส่วนปลายที่ไกลออกไปจากขั้วปอดก็ได้

หากตรวจพบมะเร็งปิดตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยให้มีผลการรักษาที่ดี และด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้นทำให้การรักษามะเร็งปอดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมกับผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

อาการผิดปกติ

โดยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอแบบมีเสมหะปนเลือด เหนื่อย หายใจไม่สะดวก นํ้าหนักลดมากในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนอาจจะมาด้วยอาการทางระบบประสาท ถ้าเซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปอยู่ที่สมองหรือไขกระดูกสันหลัง เช่น อาการแขนขาอ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้หรือบางคนมีอาการปวดกระดูกมากถ้าเซลล์มะเร็งปอดนั้นแพร่กระจายไปอยู่ที่กระดูก เป็นต้น

ประเภทของมะเร็งปอด

มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer)และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (non-small cell lung cancer) ซึ่งในกลุ่มหลังนี้พบได้ 85% ของมะเร็ง ปอดทั้งหมด และในกลุ่มนี้ยังมีแยกย่อยออกเป็นชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น squamous cell carcinoma, adenocarcinoma และอื่นๆ กลุ่มที่เป็น adenocarcinoma นั้นปัจจุบันมีการ รักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก

อาการของโรคมะเร็งปอด

1.อาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้
  • ไอเป็นเลือด
  • หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง หรือก้อนมะเร็งนั้นกดเบียดหลอดลม หรือเกิดจากภาวะน้ําที่จมปอดได้
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
  • หายใจติดขัด มีเสียงดังในลำคอ
  • ปอดอักเสบ มีไข้

2.อาการของระบบอื่นๆ ได้แก่

  • เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • บวมที่หน้า แขน คอ และทรวงอกส่วนบน เนื่องจากมีเลือดดำคั่ง จากการลุกลามของมะเร็งไปยังหลอดเลือดดำใหญ่ของทรวงอก
  • เสียงแหบ เพราะมะเร็งลุกลามไปยังเส้นประสาทบริเวณกล่องเสียง
  • ปวดบริเวณต้นคอร้าวไปยังแขน
  • ปวดกระดูก
  • กลืนลำบาก เนื่องจากก้อนมะเร็งกดเบียดหลอดอาหาร
  • อัมพาต เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมองหรือไขสันหลัง
  • มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามผิวหนัง

แต่อาการทั้งในระบบทางเดินหายใจและระบบอื่นๆ เหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ได้ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นควรได้รับการตรวจจากแพทย์

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอด

  • การสูบบุหรี่
    เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วย เพราะในบุหรี่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า
  • ควันบุหรี่มือสอง
    แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้างที่สูบ ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน
  • สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม
    ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาจได้รับสารก่อมะเร็งเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว เช่น  โครเมียม แร่ใยหิน แร่เรดอน นิกเกิล เป็นต้น
  • มลภาวะที่เป็นพิษ
    จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1-1.4 เท่า ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงไม่น้อยเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่
  • พันธุกรรม
    แม้โรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อยๆ สมาชิกในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

shutterstock 286789925

ระยะของโรคมะเร็งปอด

1.ระยะมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะจำกัด (Limited-Stage) เป็นระยะที่มะเร็งพบอยู่ในปอด 1 ข้าง และต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเท่านั้น
  • ระยะลุกลาม (Extensive-Stage) เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกนอกบริเวณช่องทรวงอกข้างนั้น หรือออกจากปอดสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย

2.ระยะมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 2 มีการลุกลามไปยังเยื่อหุ้มปอดชั้นนอก และผนังหน้าอกหรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดหรือที่อยู่ใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง โดยก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง และแพร่กระจายไปที่ปอดกลีบอื่นๆ ในข้างเดียวกัน หรือไปยังต่อมน้ำเหลืองที่กลางช่องอก หรือไกลออกไปจากช่องอกข้างนั้นๆ ได้แก่ กระดูกซี่โครง กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด
  • ระยะที่ 4 มะเร็งที่กระจายออกนอกเนื้อปอด ไปยังที่ไกลจากจุดเริ่มต้น และมะเร็งที่กระจายไปที่เยื่อหุ้มปอดหรือแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง เป็นต้น

สิ่งสำคัญของการรักษามะเร็งปอด คือ การพิจารณาตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

การรักษามะเร็งปอด

การผ่าตัด

  • มีเป้าหมายเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้
  • โดยทั่วไปไม่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กซึ่งมักมีการแพร่กระจายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว
  • วิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ในระยะที่ 1, 2 และ 3A

การฉายรังสี (radiotherapy)

  • เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น
  • วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม
  • การฉายรังสีใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี

การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) เพื่อให้ภูมิคุ้มกัน ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกัน การตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพ

การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือด

การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ ให้ประสิทธิผลในการรักษาและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนเช่นยาเคมีบำบัด

การรักษาด้วยการผสมผสาน โดยทั่วไปการรักษามะเร็งจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไป ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและผลข้างเคียงของแต่ละวิธี เพื่อให้ความร่วมมือในการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ขอบคุณข้อมูล มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

 

Avatar photo