Travel

ศุกร์ (สุข) ละวัด เที่ยว ‘วัดทุ่งศรีเมือง’ ชม ‘หอไตรกลางน้ำ’ สถาปัตยกรรมร่วม 3 ชาติ

วัดทุ่งศรีเมือง เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งโดยพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสัมฆปาโมกข์ (สุ้ย) สร้างขึ้นในราวปี 2385 ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภายในวัดมีศาสนาคารที่สำคัญ ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ หอเก็บคัมภีร์ใบลาน และพระไตรปิฎก ที่เป็นงานสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างไทย พม่า และลาว หอพระพุทธบาทที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง และพระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นงานสถาปัตยกรรมผสมระหว่างพื้นถิ่นอีสาน และแบบไทยภาคกลาง

วัดทุ่งศรีเมือง

นอกจากนี้ ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่า โดยฝีมือช่างพื้นเมืองอุบล ที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงกรุงเทพฯ มีวิหารศรีเมือง และพระเจ้าใหญ่ศรีเมือง

ภายหลังเห็นว่าเป็นการลำบากแก่พระเณรในการที่จะไปเฝ้ารักษาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงได้สร้างสร้างกุฏิขึ้น เป็นที่พักของพระภิกษุสามเณร และด้วยวัดนี้ตั้งอยู่ชายทุ่งท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งศรีเมือง”

วัดทุ่งศรีเมือง

พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสัมฆปาโมกข์ สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ที่จะจำลองพระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มาให้พุทธบริษัทที่อุบลราชธานีได้กราบไหว้ จึงให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

วัดทุ่งศรีเมือง

เมื่อสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งให้ช่างสร้างหอไตร ที่สระกลางน้ำด้วย โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก หรือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ ที่ทางวัดมีอยู่มากมาย มีลักษณะของศิลปะผสม 3 สกุลช่าง คือ ไทย พม่า และลาว

วัดทุ่งศรีเมือง

หอไตรกลางน้ำ ซึ่งได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.20 เมตร ยาว 9.85 เมตร สูงจากระดับพื้นน้ำถึงยอดหลังคาประมาณ 10 เมตร รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง

วัดทุ่งศรีเมือง

ตัวอาคารหอไตรเป็นเรือนฝาไม้แบบเรียบเครื่องสับฝาแบบประกนอย่างเรือนไทยภาคกลาง ขนาด 4 ห้อง ลูกฟักรองตีนช้างแกะสลักลาย ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก มีหน้าต่างโดยรอบ 14 ช่อง หลังคาทรงจั่วมีปั้นกรอบปีกนกกว้าง 2 ชั้น ส่วนบนเป็นหลังคาทรงแบบโบสถ์ไทยมีชั้นลด 2 ชั้น ช่อฟ้า รวยลำยอง ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์แบบภาคกลาง

วัดทุ่งศรีเมือง

หน้าบันไม้จำลักลายแบบไทย (ลายดอก) ดอกพุดตาน ลายกระจังรวน ลายประจำยามก้ามปู มุงแป้นไม้ มีทวยสลักด้วยไม้ค้ำยันชายคาปีกนกโดยรอบจำนวน 19 ตัว ด้านหน้าข้างประตูเข้าสลักหัวทวยแบบเทพพนม อีก 17 ตัวเป็นรูปพญานาค สวยงามตามแบบฉบับของสกุลช่างสมัยนั้น

กรอบประตูหน้าต่างสลักลวดลาย ผนังและบานประตูหน้าต่างเขียนลายลงรักปิดทองโดยรอบ บานประตูเขียนรูปทวารบาล ภายในทำเป็นห้องสำหรับเก็บพระไตรปิฎก และใบลาน

64639B57 75DA 4F4C 8D29 D7375B65E544 0

ส่วนของหลังคามีศิลปะไทยผสมพม่า มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคาซ้อนกันหลายชั้น แสดงถึงอิทธิพลของศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมาทางศิลปะลาวล้านช้าง ลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้งสองด้านเป็นศิลปะลาวที่มีฝีมือช่างหลวงจากเวียงจันทน์

1C9CD4F6 69EA 416A 84CC E411B5042243 0

5377F6E6 0BA6 48E6 9C86 4465660420F1 0

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo