Travel

ศุกร์ (สุข) ละวัด เที่ยวชม ‘วัดบูรพาราม’ ต้นกำเนิดสาย ‘วิปัสสนากรรมฐาน’ อีสาน

วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ที่ถนนบูรพาใน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นวัดต้นกำเนิดของสายวิปัสสนากรรมฐานแบบอีสาน ด้วยว่ามีพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระสงฆ์สายนี้ มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นประจำ

ภายในวัดมีงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นให้เรียนรู้นั่นคือ หอไตรคู่ ซึ่งเป็นหอไม้ทรงสูง 2 หลัง ที่สร้างไว้คู่กัน ใช้สำหรับเก็บคัมภีร์ หรือพระไตรปิฎก และมีสิมเก่าที่ยังหลงเหลือไว้ให้ศึกษางานสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และเป็นที่ประดิษฐานของพระบูรพาจารย์ 5 รูป

วัดบูรพาราม

วัดบูรพาราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของเมืองอุบล ด้วยว่าพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน จากวัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง และวัดเลียบนั้นจะมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่ป่าทางทิศตะวันออกของเมืองเป็นประจำ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ในสมัยนั้น ทรงมีศรัทธาในพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน มาก จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานของเมืองอุบลไปถางป่าออก และสร้างวัดขึ้น โดยให้นามว่า วัดบูรพาราม เป็นสำนักของพระอาจารย์สีทา ชยเสโน แต่นั้นมา

พระอาจารย์สีทา ชัยเสโนนี้ เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ก็เป็นพระอาจารย์ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ขาว หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ดุล และพระอาจารย์ฝั่น อาจาโร วัดบูรพารามจึงเป็นวัดต้นกำเนิดสายวิปัสสนากรรมฐานแบบอีสาน

วัดบูรพาราม

ปัจจุบันทางวัดบูรพารามได้สร้างรูปหล่อเหมือนพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน 5 รูปไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นสิริมงคล ประดิษฐานอยู่ที่สิมเก่าซึ่งเป็นฝีมือการก่อสร้างของพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน และอาจารย์เสาร์ กันตสีโล รูปหล่อพระบูรพาจารย์ที่สร้างขึ้นได้แก่ พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระญาณวิศิษย์ และพระสิทธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (สี ธัมมธโร)

19B959DA D9E8 4B0C A719 C147C5EF480B

สิมวัดบูรพาราม เป็นสิมแบบอีสานแท้ สันนิษฐานว่าจะเป็นสิมรุ่นเดียวกับสิมวัดป่าใหญ่ หรือวัดมหาวนาราม เดิมคงเป็นสิมโปร่ง แต่ต่อมาภายหลังได้ก่อผนังต่อขึ้นถึงชายคา ซึ่งดูจากความแตกต่างในการก่อสร้างคือ ฐานเดิมก่อด้วยอิฐฉาบปูนประกาย ผนังก่ออิฐเตี้ย ๆ สูงราว 60 เซนติเมตร

วัดบูรพาราม

ต่อจากนั้นใช้ไม้ตีเป็นโครงขึ้นไปถึงชายคา แล้วใช้ดินเหนียวผสมแกลบพอกกับไม้ แล้วจึงฉาบปูนทับอีกชั้น ผนังด้านข้างเจาะเป็นหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง (ไม่มีบานหน้าต่าง แต่ใช้ไม้โครงผนังเป็นลูกกรงแทน)

ตรงผนังหลังพระประธานเป็นช่องกลมด้านละช่อง ส่วนผนังด้านหลังก่อทึบเจาะเป็นช่องกลม 4 ช่อง ลักษณะที่เหลืออยู่ เป็นฐานเอวขันธ์แบบปากพาน มีบันไดขึ้นทางด้านหน้า ฐานชุกชีก่อเป็นแท่งยาวตลอดแนว โครงหลังคาเดิมหักพังลงหมดแล้ว ทางวัดจึงได้ทำหลังคาใหม่คลุมไว้

วัดบูรพาราม

หอไตรวัดบูรพาราม เป็นหอบก หรือหอไตรที่สร้างบนบก ลักษณะอาคารเป็นเรือนไม้ 2 หลังคู่กัน แต่ละหลังเป็นเรือนแบบ 3 ห้อง ยกพื้นสูงด้วยเสากลม หลังละ 8 ต้น มีชานเชื่อมอาคารทั้ง 2 หลัง (ปัจจุบันชานได้หักพังลงหมดแล้ว)

อาคารหลังทางทิศใต้ฝีมือประณีตมาก ฝาผนังอาคารเป็นแบบก้างปลา ไม้พรึงแกะสลักเป็นลวดลายกระจังกลีบบัวรอบอาคาร และไม้ลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่าง หลังคาทรงจั่วมุงแป้นไม้ หน้าบันกรุไม้รูปรัศมีพระอาทิตย์ เชิงชายมีไม้ฉลุโดยรอบ ส่วนอาคารหลังทิศเหนือ ฝีมือการก่อสร้างหยาบกว่าทางทิศใต้ โดยเฉพาะลวดลายผนัง และการตกแต่งกรอบหน้าต่าง

639AEB51 AB1E 4F14 9547 F6904B809647

การสร้างหอไตรนี้มาจากพื้นฐานความเชื่อเรื่องการนับถือศาสนาพุทธ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างคือ เพื่อเป็นที่เก็บหนังสือใบลาน ตัวแทนของพระธรรมคำสอนเป็นของสูง ที่ต้องกราบไหว้บูชา หอไตรจึงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ในทัศนคติของชาวบ้าน

296AAED4 9698 45B1 A8D5 C57AACD54C5C

วิหารวัดบูรพาราม เดิมสร้างเป็นศาลาการเปรียญขึ้นในปี 2458 ซึ่งบริเวณที่สร้างนี้ เคยเป็นสถานที่สร้างเมรุเผาศพของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เมื่อเผาศพเสร็จแล้ว จึงได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้น แต่ต่อมาได้เกิดไฟไหม้ พระครูอมรวิสุทธิ์ (แดง อมโร) จึงได้สร้างวิหารหลังใหม่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำรูปหล่อของบูรพาจารย์ 5 รูปมาประดิษฐานไว้

ED373B93 7389 4F3E 9D5A 961B8C8D7B17

CE1E2674 CAB0 4112 853B 2DFA2855BED2

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo