Lifestyle

ทำความรู้จักโรค ‘Aphasia’ ต้นเหตุ ‘บรูซ วิลลิส’ บอกลาวงการ รุนแรงแค่ไหนเช็คเลย

โรค “Aphasia” สาเหตุที่ทำให้ดาราฮอลีวูดชื่อก้อง “บรูซ วิลวิส” ต้องประกาศยุติบทบาทนักแสดง เกิดจากอะไร อาการแบบไหน รักษาอย่างไร เช็คเลย

ถือว่าเป็นข่าวช็อกวงการบันเทิงระดับโลก เมื่อ บรูซ วิลวิส ดาราฮอลลีวูดชื่อดังวัย 64 ปี ประกาศยุติบทบาทนักแสดง โดยครอบครัวแจ้งว่า มีสาเหตุมาจากโรคอะเฟเซีย (Aphasia) หรือภาวะสูญเสียการสื่อความ

โรค Aphasia

ทั้งนี้ แพทย์ได้วินิจฉัยว่า บรูซ วิลลิซ มีอาการของโรคอะเฟเซีย ที่เกิดจากภาวะผิดปกติของสมองซีกซ้ายที่ควบคุมเกี่ยวกับภาษาและทักษะต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในด้านการพูด การออกเสียง และความเข้าใจภาษา เรียกว่าเกิดภาวะเสียการสื่อความ ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน และการตอบสนองที่ผิดพลาดโดยอาจมีความรุนแรงในแต่ละทักษะไม่เท่ากัน

เปิดสาเหตุโรค Aphasia

  • เส้นเลือดในสมองอุดตัน ตีบ หรือแตก
  • เนื้องอกในสมอง
  • ติดเชื้อในสมอง
  • การบาดเจ็บที่กระทบกระเทือนถึงสมอง

ลักษณะอาการของโรค Aphasia

  • พูดไม่ได้ สื่อสารไม่ได้แม้กระทั่งการใช้ภาษากาย
  • ฟังคำพูดไม่เข้าใจ ตอบไม่ตรงคำถาม
  • พูดไม่ชัด การนึกคำพูดลำบาก
  • บอกความต้องการไม่ได้ บอกชื่อสิ่งของที่ใช้ไม่ได้ ลืมชื่อคนในครอบครัว
  • ทำตามคำสั่งไม่ได้ พูดตามไม่ได้
  • มีความลำบากในการเคลื่อนไหวอวัยวะในการพูด ปาก ลิ้น ขากรรไกร

โดยสรุปคือ อาการของโรคอะเฟเซีย จะมี 4 แบบ ดังนี้

1. แบบที่ยังสามารถสื่อสารได้ (Wernicke’s Aphasia)

เกิดจากส่วนกลางของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะพูดประโยคยาว ๆ หรือประโยคที่ซับซ้อนติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย หรือใช้คำไม่ถูก และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ

2. แบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้ (Broca Aphasia)

เป็นผลมาจากส่วนหน้าของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีปัญหาด้านการสื่อสารโดยเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ดีกว่าการพูดสื่อสารออกไป ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้น ๆ พูดไม่จบประโยค และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด

อะเฟเซีย

3. แบบ Conduction

ผู้ป่วยมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดีทั้งการพูด และการเขียน แต่ไม่สามารถพูดตามได้หรือหากพูดตามจะพูดผิด

4. แบบ Global

เป็นผลจากสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหายทั้งส่วนหน้าและส่วนกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งการสื่อสารและการรับสาร ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ มีอาการของภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้และไม่ได้รวมกัน

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ พบแพทย์ ระบุว่า โรคอะเฟเซีย เป็นภาวะบกพร่องทางการสื่อความ โดยเป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย ทำให้การลำเลียงเลือดเข้าสู่ในบริเวณดังกล่าวถูกขัดขวางจนทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด

ทั้งนี้ ภาวะอะเฟเซีย อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน หลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง

นอกจากนี้ยังพบว่าในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม

shutterstock 498135061 1

แนวทางการรักษา

แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษา และเสริมทักษะการสื่อสาร เริ่มจากการประเมินสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย วัดระดับความผิดปกติของการใช้ภาษา และทักษะทางสังคม

จากนั้นเข้ารับการบำบัดจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะฝึกหรือทบทวนการใช้คำ ใช้ประโยคที่ถูกต้อง การพูดทวน และการถามตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้คำศัพท์และเสียงของคำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เข้าร่วมบทสนทนา สื่อสารได้

หลังได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่องอาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้น จากการศึกษาแพทย์ระบุว่า การบำบัดจะได้ผลที่ดีที่สุดเมื่อเริ่มทันทีหลังร่างกายและสมองเริ่มฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย ในบางรายอาจมีการใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

โรคอะเฟเซียป้องกันได้

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมอง และดูแลสุขภาพของสมอง เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมระดับความดันโลหิต และไขมันในเลือด
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo