Lifestyle

ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อันตรายจริงไหม กรมอนามัยย้ำอ่านที่นี่ อย่าเชื่อข่าวบิดเบือน

ว่อนโซเชียล ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อันตราย กรมอนามัย ยันข่าวบิดเบือน พร้อมแนะใช้ให้เหมาะกับช่วงวัย ไม่มีอันตราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีมีการเผยแพร่ ข้อมูลเรื่องอันตรายของฟลูออไรด์ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าส่งผลต่อความฉลาด การป่วยมะเร็ง มวลกระดูกบาง ฟันผุกร่อน หินปูนที่ข้อ หรือมีรหัสพันธุกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น

ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวมีการบิดเบือน จากความเป็นจริง เนื่องจากอันตรายจากฟลูออไรด์ในยาสีฟันหรือผลิตภัณฑ์ผสมฟลูออไรด์อื่น ๆ เกิดขึ้นได้น้อยมาก

สำหรับการเกิดพิษจากการใช้ฟลูออไรด์ ขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะเวลาที่บริโภคเข้าสู่ร่างกาย แต่การใช้ฟลูออไรด์รูปแบบต่าง ๆ ในช่องปาก จะเน้นการสัมผัสของฟลูออไรด์กับผิวฟัน ไม่มีความจำเป็น ต้องกินเข้าไป

ขณะที่องค์การอนามัยโลก แนะนำและสนับสนุนให้แปรงฟันด้วยยาสีฟัน ผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1,000 – 1,500 ppm วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันฟันผุในทุกกลุ่มวัย

นอกจากนี้ การแปรงฟันด้วยยาสีฟัน ผสมฟลูออไรด์ในเด็กวัยเรียนหรือผู้ใหญ่มีโอกาสกลืนยาสีฟันได้น้อยมาก เพราะสามารถควบคุม การบ้วนทิ้งได้แล้ว แต่มีโอกาสเกิดได้ในเด็กเล็ก ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการบีบยาสีฟันในปริมาณ ที่เหมาะสม

ยาสีฟัน

ด้าน ทันตแพทย์หญิงวรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า การแปรงฟันด้วยยาสีฟัน ผสมฟลูออไรด์ ความเข้มข้นตั้งแต่ 1,000 ppm ขึ้นไป เป็นวิธีการป้องกันฟันผุที่ง่ายและคุ้มค่าที่สุด

ข้อแนะนำการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์

1. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรแตะยาสีฟันบนขนแปรง พอเปียก ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กและเช็ดฟองออก

2. เด็กอายุ 3 – 6 ปีที่สามารถควบคุมการบ้วนทิ้งได้ ผู้ปกครองควรเป็นผู้บีบยาสีฟันให้เท่ากับความกว้างของขนแปรง และช่วยแปรงฟัน ซึ่งหลังแปรงฟันให้บ้วนน้ำแต่น้อย

3. เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ควรบีบยาสีฟันให้เท่ากับความยาวของขนแปรงหลังแปรงฟันควรบ้วนน้ำแต่น้อยเช่นกัน เพื่อให้ยาสีฟันฟลูออไรด์เกาะยึดกับผิวฟันและทำหน้าที่ป้องกันฟันผุได้ยาวนานและมีประสิทธิภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo