Lifestyle

3 Steps หายใจแบบ ‘ซีอีโอ’

ผู้บริหารหลายคนได้ตำแหน่ง “ซีอีโอ” แถมมาด้วยโรค เพราะเมื่อขึ้นในตำแหน่งสูงๆ ความเครียดมักถามหา จิตใจ และร่างกายย่อมแย่ตามไปด้วย จนอาจบอกได้ว่า “ตำแหน่งนี้” อาจไม่คุ้ม ทำอย่างไรให้ซีอีโออยู่อย่างมีความสุข

IMG 20191007 174840

พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก บอกว่า ซีอีโอ ต้องคิดแต่วิธีหาผลกำไร และวิธีชนะ วิธีแพ้ทำไม่เป็น การเอาของเสียออกจากจิตใจ ก็ทำได้ยาก ก็เลยเหมือนรับประทานอาหารไปแล้ว ได้สารอาหารแล้ว แต่กากอาหารออกไม่ได้ “ของใหม่เข้า แต่ของเก่าออกไม่ได้”

ซีอีโอต่างประเทศจำนวนไม่น้อย มองมาที่ “หลักศาสนาพุทธ” และคิดว่าช่วยเขาได้แน่นอน เพราะสอนเรื่องปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องความว่างเปล่า และ format จิต delete อารมณ์ ทำให้ซีอีโอหลายคนทั้งของต่างประเทศและไทย พากันมาเรียนที่วัดพระราม ๙ เพราะเขารู้ว่า “ความเครียด ทำให้เกิดโรค เป็นมะเร็งทั้งร่างกาย และจิตใจ”  นอนไม่หลับ ตัดสินใจผิดพลาด อารมณ์หงุดหงิด บริหารจัดการอารมณ์ไม่ได้ กระทบองค์กร คนรอบข้าง และครอบครัว บางคนก็แก้โดยกินเหล้าเมายา ร้องรำทำเพลง กลบไปวันๆ

พระราชญาณกวี เล่าต่อว่า เราเลยบอกวิธีการ “คลายครียด” ให้กับเขา ไม่ได้สอนเรื่องละกิเลส หมดกิเลส หรือ บรรลุพระนิพพาน เป็นพระอรหันต์ แต่บอกเทคนิค “ทำให้คนเอาของใหม่เข้า เก็บสาระไว้ และเอาของเก่าออก”  เป็นการสอนการ delete ทิ้ง เปรียบกับซอฟแวร์โดนไวรัสโปรแกรมเล่นงาน แต่เครื่องคอมพิวเตอร์มีแอนตี้ไวรัสโปรแกรมอยู่ก็ช่วยได้

สอดคล้องกับภาษาพระ ถือว่า “ศีล” เป็นกฎหมาย หรือ เป็น แอนตี้ไวรัสโปรแกรม ส่วน “สมาธิ” เป็นความจำ หรือ memory ทำให้เราไม่หลงลืม มีความจำดี ไม่เป็นอัลไซเมอร์ ไม่ขาดตกบกพร่อง ส่วน “ปัญญา” คือ format ข้อมูล

ช่วยซีอีโอได้อย่างไร? พระราชญาณกวี อธิบายว่า ทางพุทธศาสนาเน้นเรื่องปฏิบัติธรรม ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ใช้ “อนาปานสติ”  ใช้ลมหายใจเข้าออก “พุท โธ” หรือ “สัมมา อาระหัง”

แต่ดั้งเดิมจริงๆ ก็คือ ลมหายใจเข้า-ออก เพราะมนุษย์มีความหมายต่อเมื่อ “หายใจได้” เท่านั้น หายใจไม่ได้ก็หมดความหมาย พระพุทธเจ้า จึงเน้นว่า “ลมหายใจสำคัญที่สุด” 

IMG 20191007 171106

คนส่วนใหญ่หายใจทิ้ง ไร้สาระ หายใจก่อเรื่อง เป็นลมหายใจที่ประทุษร้ายตนเอง และผู้อื่น บางคนไม่หายใจดีกว่าหายใจก็มี ทางวัดจึงสอนเรื่อง  “breathing meditation” ทำสมาธิผ่านการหายใจ คอนเซปต์ คือ “หายใจให้เป็นบุญ” ใช้เวลา 3 นาที มีขั้นตอน 3-5-15 ดังนี้

  • หายใจเข้า นับ 3 (วินาที) หายใจออกยาวๆ นับ 7 (วินาที) = 3 ครั้ง (หายใจลึก-ยาว-ช้า)
  • หายใจเข้า นับ 3 (วินาที) หายใจออกนับ 1 (วินาที) = 5 ครั้ง (หายใจลึก-ยาว-ช้า)
  • หายใจเข้า นับ 1  (วินาที) หายใจออกนับ 1 (วินาที) = 15 ครั้ง (หายใจเร็ว-เบา-ถี่)

จากนั้นหลับตานิ่งสักครู่ จะรู้สึกถึงความปีติ (Happiness) โดยสามารถทำเองได้ทุกที่ทุกเวลา แนะนำให้ทำทุกชั่วโมง หรือช่วงไหนเครียด ก็หลับตาทำ “หายใจให้เป็นบุญ”

“ปีติ” ที่เกิดขึ้น เพียง 1 นาที เท่ากับ นอนหลับลึก 1 ชม. เรานอนหลับกันไม่ลึก เพราะ “ปิดแต่หน้าจอ แต่ข้างในไม่ปิด เพราะไม่ได้ปิดสวิตซ์ ต้องปิดสวิตซ์จริงๆด้วย ”

“เราไม่ได้พูดถึงการปฏิบัติธรรม แต่เป็นการฝึกหายใจที่มนุษย์ทุกคน ต้องทำ ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใด เหมือนเล่นกีฬาแล้วต้องขอเวลานอก “ขอเวลาหายใจ”  หมายถึงเวลาแห่งการหายใจจริงๆ ”

ทำไมถึงช่วยได้ พระราชญาณกวี ย้ำว่า เวลาเราเครียด หมายถึง สมองขาดออกซิเจน คิดไปข้างหน้ามากเกินไป คิดถอยหลังมากเกินไป จะนอนก็หลับยาก ขอบตาดำ หายใจให้เป็นจึงช่วยได้ เป็น 4B “Breathe blood breeze brain”  ทำบ่อยๆหน้าจะแดง เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ

IMG 20191007 155837

นางอัญชลี หวังวีระมิตร หรือ พี่หนูลี อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งคลุกคลีกับวัดพระราม ๙ เป็นอย่างดี และเพิ่งฝึกเรื่องลมหายใจด้วย เล่าว่า ช่วง 1 ปีของการทำงานระดับบริหาร ยอมรับว่า “เครียด” กว่าก่อนหน้านี้มาก แต่เธอก็ผ่านมาได้ และจบภารกิจอย่างดีเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมาด้วยวัย 60 ปี

การปลูกฝังแต่วัยเด็กของตายาย และครอบครัวที่จังหวัดฉะเชิงเทราให้เข้าวัดฟังธรรม เชื่อมโยงมาถึงชีวิตประจำวันตลอดมา เธอสวดมนต์ก่อนมาทำงาน และก่อนนอนทุกวัน

เมื่อมีเวลาทุกข์ใจเปิดฟังพระเทศน์ และหาโอกาสไปวัด ทำให้ได้พบกับพระที่ดีเสมอ พระที่เข้าใจชีวิตมนุษย์ มีเทคนิคให้สติผู้คนอย่างหลากหลายสอดคล้องกับเรื่อง และวัย จูงใจให้คนยังคงนึกถึงพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง

พระราชญาณกวี เป็นอีกท่านหนึ่งที่ทำให้ลูกสาวของเธอเอาชนะความท้อถอย สู้งาน และทำงานในตำแหน่งมั่นคงในสหรัฐอเมริกามาจนถึงวันนี้ และทุกครั้งที่มีมรสุมชีวิต เธอก็ผ่านมาได้ด้วยการให้สติเตือนใจของพระทุกๆรูปที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งบ่อยครั้งเธอพบเจอโดยบังเอิญ

เธอบอกว่า ทุกจังหวะชีวิตเธอมี “บุญ” หนุนนำ ไม่ใช่บุญที่เป็นนามธรรม แต่เป็นรูปธรรม เพราะบุญในความหมายของเธอ คือ การกระทำของตัวเอง นั่นหมายถึง เมื่อเจองานหนัก คิดว่าเป็นโอกาสในชีวิตหากปล่อยให้ผ่านไปจะไม่กลับมา จริงใจกับทุกคน และเมื่อต้องบริหารคนหลายร้อยชีวิต “ยุติธรรม” คือหลักยึดของเธอ พร้อมกับผลักดันให้ลูกน้องเติบโต ไม่กอดไว้กับตนเอง และแน่นอนบ่อยครั้งมีอารมณ์ไม่พอใจกัน “อโหสิกรรม” เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ผ่านปัญหาบางประการไปได้

นอกจากการทำงานหนักให้ดีที่สุดแล้ว สิ่งที่พี่หนูลี บอกกับลูกน้องเสมอ ก็คืออย่าลืม “balance” งาน และชีวิตครอบครัว ต้องจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวด้วย เธอจะกลับมากินข้าวเย็นกับครอบครัวทุกวัน น้อยครั้งที่จะออกไปกินเลี้ยงสังสรรค์นอกบ้าน และจะบอกกันล่วงหน้า

และทุกๆวันเธอต้องโทรศัพท์พูดคุยกับพ่อและแม่ไม่เคยเว้น รวมถึงโทรศัพท์พูดคุยกับลูกสาว ที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา จนเรียกได้ว่า “สนิท” “รู้ใจ” กันเหมือนอยู่ด้วยกัน

และ  “balance” ของเธอ อีกเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือการออกกำลังกาย เธอจะต้องวิ่งบนลู่วิ่ง ที่บ้านตอนเย็นทุกวัน 3 กม. และเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย แป้งน้อย กินผักผลไม้ อาหารแต่ละจานไม่ปรุงมาก เข็มเครื่องชั่งน้ำหนักของเธอจึงหยุดอยู่ที่ 57 กก.มาเป็นเวลา 30 ปี

สำหรับสุขภาพไม่ต้องพูดถึง เธอแข็งแรง คล่องแคล่ว มากไปกว่านั่น คนที่คลุกคลีจะบอกว่า เป็นคนมีความจำแม่น เธอ ย้ำว่า เสียงสวดมนต์ และการมีวัด มีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่พึ่ง ทำให้มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน และสุขใจเสมอ

“บุญ” ในความหมายของเธอ คือ สิ่งที่เรา “เลือกที่จะเป็น” และผลจากการเลือกทำสิ่งที่ดี ทำให้เธอได้รับแต่ความสุข สวนทางกับ “ดวง” ที่หมอแม่นๆเคยทำนายไว้  ตอกย้ำว่า “บุญกรรม” หมายถึงการกระทำตลอดช่วงชีวิตของเรา ไม่ใช่ที่ใครอื่นกำหนด 

 

 

Avatar photo