Lifestyle

โลกเดือด อากาศร้อน ระวัง ‘Heat Stroke’

“โลกเดือด” อากาศร้อน ระวัง “Heat Stroke” ภัยร้ายที่อันตรายถึงชีวิต มีวิธีการป้องกัน

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  แจ้งเตือนอีกครั้งทราบกันดีอยู่แล้วว่าเราอยู่ในยุคโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิร้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูร้อน จากการคาดหมายอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงนี้เดือนเมษายนสภาพอากาศ มีอากาศร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุดคือ 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส สิ่งที่จะขึ้นตามมาเมื่ออากาศร้อนจัดคือ “Heat Stroke หรือโรคลมแดด” ภัยร้ายที่อันตรายถึงชีวิต ฮีทสโตรก โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อน หรืออยู่กลางแจ้งมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ อาจจะมีภาวะชัก หรือว่าการหมดสติจากการที่หัวใจเราเต้นผิดจังหวะ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โลกเดือด

อาการของโรคลมแดด

1. ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงถึง 40 องศา
2. ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก
3. หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง
4. ปวดศีรษะ หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ
5. อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคลมแดด

1. อุณหภูมิที่สูง อากาศร้อน
2. ความชื้น ความชื้นที่สูงทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้
3. ภาวะแรงลม ถ้าไม่มีลม ก็ไม่สามารถพัดพา หรือระบายความร้อนได้

กลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะโรคลมแดด

1. กลุ่มที่ต้องทำงาน หรือทำกิจกรรมอยู่กลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง นักวิ่งมาราธอน
2. คนสูงอายุ กลุ่มเด็ก จะมีการสูญเสียความร้อนได้มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นปกติ
3. คนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ต้องใช้ยาโรคประจำตัว เช่น โรคพาร์กินสัน โรคความดันโลหิตสูง กลุ่มนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลมแดดได้มากขึ้น

การปฐมพยาบาล

1. การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีทสโตรก อย่างแรกคือ ต้องดูว่ามีภาวะไม่ความรู้สึกตัวหรือไม่ ถ้าไม่รู้สึกตัว หรือมีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วย ไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
2. กลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวปกติดีอยู่ ก็สามารถนำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะ ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ ถ้ามีพัดลมสามารถเปิดพัดลมได้ เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด

การป้องกัน

1. การดูแลตัวเองในหน้าร้อน คืออย่าไปอยู่กลางแจ้งให้นานเกินไป ถ้ามีร่มก็สามารถใช้ร่มได้ ดื่มน้ำให้มาก ๆ ทานน้ำแข็ง ทานไอศกรีม
2. ถ้าอยู่ในบ้าน พยายามเปิดประตู หน้าต่าง อย่าอยู่ในที่อับ อย่าอยู่ในห้องปิด การอยู่ในห้องปิดจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แล้วเกิดความร้อนสะสม ทำให้เกิดฮีทสโตรกได้แม้อยู่ในบ้าน
3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่าออกไปอยู่กลางแดดนานเกินไป ถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง แนะนำว่าเราต้องหาเวลาเข้ามาอยู่ในที่ร่มบ้าง ถ้าเราอยู่กลางแดดนาน ๆ ก็จะเกิดฮีทสโตรกได้

ข้อควรระวังคือ อย่าทำให้ร่างกายขาดน้ำ เตรียมน้ำ ดื่มน้ำเยอะ ๆ อาจจะต้องเยอะกว่าในฤดูอื่น

ที่มาของข้อมูล : ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,กรมอุตุนิยมวิทยา,กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

โลกเดือด

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight