Lifestyle

21 มี.ค. ‘วันดาวน์ซินโดรมโลก’ สปสช. รณรงค์ดูแล ‘ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม’

ทำความรู้จัก “วันดาวน์ซินโดรมโลก” 21 มีนาคมของทุกปี เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2555 ปีนี้ สปสช. ร่วมรณรงค์ดูแลผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม

วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down Syndrome Day) มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2550 หลังจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัว และตระหนักเห็นความสำคัญของโรคดาวน์ซินโดรมมากขึ้น โดยสมาคมโรคดาวน์ซินโดรมสิงคโปร์ ได้เริ่มจัดทำเว็บไซต์วันดาวน์ซินโดรมโลกขึ้นมา จนเริ่มแพร่หลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม

กระทั่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2554 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคม ของทุกๆ ปี เป็นวันดาวน์ซินโดรมโลก โดยให้เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) เกิดจากโครโมโซมที่มีความผิดปกติในคู่ที่ 21 เกินเป็น 3 แท่ง ผ่านการถ่ายทอดพันธุกรรม โดยเด็กที่มีภาวะกลุ่มอาการดาวน์นี้ จะมีปัญหาพัฒนาการที่ล่าช้า จะมีความพิการที่เด่นชัดด้านสติปัญญา ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงมาก ร่วมกับความพิการแทรกซ้อนทางร่างกายอื่น เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง ความผิดปกติที่ระบบลำไส้ หรือมีระบบการได้ยินที่ผิดปกติ เป็นต้น

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมทำได้แต่เพียงการดูแลในระยะยาว โดยอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากครอบครัว สถานพยาบาล และสังคม ในด้านการรักษาพยาบาล การเลี้ยงดู ตลอดจนการกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ การดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการดาวน์

ดาวน์ซินโดรม1

 

ทั้งนี้ ด้วยภาวะที่ต้องได้รับการดูแลระยะยาว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ครอบคลุมสิทธิประโยชน์การรักษา การฟื้นฟูพัฒนาการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว และให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง บริการฝากครรภ์ภายใต้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม และการตรวจยืนยันธาลัสซีเมียและภาวะดาวน์ซินโดรม โดยให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์ทุกลุ่มอายุ ตั้งแต่การมาฝากครรภ์ครั้งแรกหรือครั้งถัดมา รวมถึงทางเลือกแก่ผู้ปกครองในการยุติการตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ยังมีบริการสำหรับกลุ่มวัยเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 0-5 ปี ในการติดตามตรวจการพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งหมด อาทิ การเจาะเลือดที่ส้นเท้า เพื่อส่งตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟินิลคีโตนูเรีย เป็นต้น เพื่อให้เด็กที่มีพัฒนาบกพร่องหรือล่าช้าได้รับการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo