Lifestyle

‘ตะคริว’ ภาวะที่ผู้สูงอายุพึงระวัง แนะวิธีป้องกัน-แก้ไข ตามนี้!!

กรมการแพทย์ เตือน “ตะคริว” ภาวะที่ผู้สูงอายุควรระวัง พร้อมแนะวิธีการป้องกันและแก้ไขตะคริวในผู้สูงอายุ เช็กรายละเอียดที่นี่

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตะคริวเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกะทันหัน ซึ่งพบได้บ่อยในกล้ามเนื้อขา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดได้นั้นมีหลายสาเหตุ ได้แก่

ตะคริว

1. การใช้กล้ามเนื้อนั้น ๆ มากเกินไป ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายไม่เพียงพอ

2. ยาบางตัว เช่น ยาไขมัน (กลุ่ม Statin) ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ยาขยายหลอดลม เป็นต้น

3. โรคบางอย่างหรือภาวะบางอย่างของร่างกาย เช่น โรคไต โรคพาร์กินสัน ไทรอยด์ น้ำตาลต่ำ ดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง ระดับเกลือแร่บางอย่างในร่างกายต่ำ ร่างกายขาดน้ำ ภาวะเครียด หรือเส้นประสาททำงานผิดปกติ เป็นต้น

4. การไหลเวียนของเลือดบกพร่อง เช่น ภาวะเส้นเลือดตีบตัน หรือการบีบตัวของหัวใจไม่ดี

5. การทำงานของเซลล์ประสาททำงานผิดปกติ

ตะคริว1

วิธีการปฎิบัติตัวเมื่อเป็นตะคริว

แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้สูงอายุเป็นตะคริวควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. พักการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนนั้น

2. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวอย่างช้า ๆ

3. นวดบริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว

4. หากกล้ามเนื้อมีการหดเกร็งมาก อาจใช้น้ำอุ่น หรือถุงอุ่นประคบ

5. หากตะคริวลดลง แต่ยังคงมีอาการปวดอาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

6. หากพบว่าเป็นตะคริวบ่อย หรือทำให้รบกวนการนอนหรือนอนไม่หลับควรปรึกษาแพทย์

วิธีป้องกันการเกิดตะคริวในสูงวัย

1. หากไม่มีข้อห้ามหรือโดนจำกัดการดื่มน้ำ ให้ดื่มน้ำประมาณ 2-3 ลิตร/วัน

2. ก่อนเข้านอนสามารถออกกำลังกายกล้ามเนื้อขา โดยการปั่นจักรยานอยู่กับที่เบา ๆ ประมาณ 2-3 นาที เพื่อคลายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

3. จิบเครื่องดื่มเกลือแร่ก่อนและหลังออกกำลังกาย

ตะคริว

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความทนทานของกล้ามเนื้อ โดยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ และมีการเคลื่อนไหวไม่เร็วมากซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุ

4. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังออกกำลังกาย

5. พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียม ได้แก่ กล้วย ส้ม แคลเซียม ได้แก่ นม ปลาตัวเล็ก ๆ ที่รับประทานทั้งก้างได้ อาหารที่มีวิตามินอี เช่น ถั่ว น้ำมันพืช วิตามินบี 12 เช่น อาหารประเภทปลาและไข่ในมื้อเย็น

6. หลีกเลี่ยงอากาศเย็น และขณะนอนหลับควรให้บริเวณขาและเท้าอบอุ่นอยู่เสมอด้วยการห่มผ้าหรือสวมถุงเท้า

7. หาหมอนรองปลายเท้าขณะหลับ

8. เลือกรองเท้าที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อน่องและฝ่าเท้าในช่วงกลางวัน

9. หากกินยาแล้วมีอาการเป็นตะคริวซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็น ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo