Lifestyle

สิ้นปีปาร์ตี้หนัก กินอาหารไขมันสูง-ดื่มแอลกอฮอล์ ระวัง ‘ไขมันพอกตับ’

สิ้นปีปาร์ตี้หนัก กินอาหารไขมันสูงดื่มแอลกอฮอล์ ระวังไขมันพอกตับ” สาเหตุของ “โรคตับแข็ง” และอาจกลายเป็น “มะเร็งตับ” ได้ในที่สุด

ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว หลายคนนัดเพื่อนฝูงปาร์ตี้ ยามค่ำคืน กินดื่มหนักๆ กินอาหารไขมันสูง-ดื่มแอลกอฮอล์ แต่รู้หรือไม่แอลกอฮอล์ที่ดื่มไป หรืออาหารแคลอรี่ โดยเฉพาะไขมัน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล นอกจากจะทำให้อ้วนแล้ว ยังเป็นตัวการที่ทำให้เกิด “ภาวะไขมันพอกตับ” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของ “โรคตับแข็ง” และอาจกลายเป็น “มะเร็งตับ” ได้ในที่สุด

ปาร์ตี้

ไขมันพอกตับมี 2 ประเภท

1. ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease) การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณหรือดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่ ไขมันจึงเข้าไปสะสมในเซลล์ตับ ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาของการดื่ม

2. ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcohol Fatty Liver Disease) มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการสะสมของไขมันที่ตับมากกว่าปกติ ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน ไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ ความรุนแรงอยู่ที่ระยะเวลาและการมีโรคร่วม

สัญญาณเตือนตับพัง

ความเหนื่อยล้า คลื่นไส้ หรือมึนๆ งงๆ หลังดื่มหนักอาจเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถ้ามีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะไขมันพอกตับได้

  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย หรือ หมดแรง แม้จะพักจากงานปาร์ตี้มาหลายวัน
  • คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง หรือบางกรณีอาจรู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวามากกว่า 2 วัน
  • เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลดผิดปกติ
  • ขาดสมาธิ ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
  • ปัสสาวะ และอุจจาระเปลี่ยนสีเข้มขึ้น
  • ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง)

อาการ 4 ระยะของโรคไขมันพอกตับ

  • ระยะที่ 1 พบการสะสมของไขมันอยู่ภายในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรืออาการใดๆ
  • ระยะที่ 2 มีการอักเสบของตับ และเซลล์ตับถูกทำลายบางส่วน หากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นโรค “ตับอักเสบเรื้อรัง” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือน
  • ระยะที่ 3 มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังและเกิดพังผืดสะสม เซลล์ตับจึงถูกทำลายไปเรื่อยๆ
  • ระยะที่ 4 มีภาวะตับแข็ง ตับเสื่อมสมรรถภาพจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี มีโอกาสพัฒนากลายเป็นมะเร็งตับได้ในอนาคต

การรักษาภาวะไขมันพอกตับ

นอกจากแพทย์จะให้รับประทานยาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคนแล้ว การรักษาส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

ควรทำ เพื่อตับดีไปอีกนาน

  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ จิบน้ำบ่อยๆ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาการที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน หากจำเป็นควรเลือกชนิดที่มีไขมันดี (HDL)
  • ล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน เพื่อให้มีสารปนเปื้อนน้อยที่สุด
  • ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน รวม 150 นาทีขึ้นไปต่อสัปดาห์
  • ขับถ่ายเป็นประจำ อย่าปล่อยให้ท้องผูก
  • หากมียาที่ต้องกินเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาความผิดปกติของตับ แม้ยังไม่มีอาการแสดง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยดูจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ซึ่งมีสูตรคำนวณ คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 (BMI = kg/m2) ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ส่วนสูง 175 เซนติเมตร ดัชนีมวลกาย (BMI) = 70 ÷ (1.75 X 1.75) เท่ากับ 22.87

ควรลดละเลิก สาเหตุทำร้ายตับ

  • ลดการกินของหวาน ของมัน
  • เลิกสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า ไม่อยู่ในสถานที่ที่ต้องได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิกใช้สารเสพติดต่างๆ
  • เลิกกินยาหรือสมุนไพรโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

เพราะภาวะไขมันพอกตับสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ ถ้าได้รับการรักษาก่อนเกิดการอักเสบจนเป็นพังผืด แต่สิ่งที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโรคทุกชนิดก็คือ การป้องกัน การตรวจหาภาวะไขมันพอกตับด้วย Fibroscan  ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเฝ้าระวังของการเกิดพังผืดภายในตับ  ซึ่งการตรวจใช้เวลาตรวจไม่นาน ไม่ต้องนอนพักฟื้น รู้ผลการตรวจได้ทันที มีความแม่นยำสูง ไม่เจ็บปวดและไม่มีภาวะแทรกซ้อน  เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้จนเป็นตับแข็ง จะไม่สามารถรักษาให้หายได้  ทำได้เพียงควบคุมอาการและลดปริมาณไขมันในตับลงเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลเปาโล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo