Lifestyle

‘หมอธีระวัฒน์’ เตือนภัย ยาถ่าย-ยาระบาย ใช้บ่อยเสี่ยง ‘สมองเสื่อม’ 

“หมอธีระวัฒน์” ยกผลสำรวจสหรัฐ ชี้ชัดการใช้ยาถ่าย-ยาระบาย ชนิดเดี่ยวหรือหลายชนิดร่วมกัน ใช้บ่อยเสี่ยง สมองเสื่อม แนะเลี่ยงท้องผูกด้วยการทานผัก ผลไม้ กากใย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า

ยาถ่าย-ยาระบาย

ยาถ่าย-ยาระบาย ชนิดเดี่ยวหรือหลายชนิดร่วมกัน ใช้บ่อยเสี่ยง สมองเสื่อม

ตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา (Neurology) ซึ่งเป็นวารสารทางการของสมาคมประสาทของสหรัฐ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

วิเคราะห์ จาก ประชากร มากกว่า 5 แสนคน ที่อยู่ในวัยกลางคนจนกระทั่งถึงสูงวัยที่รวบรวมในคลังชีวข้อมูล (Biobank) ของ UK ประเทศอังกฤษ ระยะการติดตามทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้ว คือ 9.8 ปี

ผู้ที่ใช้ยาระบายประเภทที่เรียกว่า osmotic laxatives เป็นประจำ มีความเสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น เมื่อ เทียบกับคนที่ไม่ใช้ถึง 64%

และคนที่ ใช้ยาระบายหนึ่งประเภทหรือมากกว่า ที่เป็นทั้ง แบบ bulk-forming แบบ stool softening และ stimulant laxatives มีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 90%

การใช้ยาระบายประเภทต่าง ๆ จะทำให้มีการปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรียในลำไส้ โดยผ่านกลไกที่ส่งผ่านจากเส้นประสาทของลำไส้ขึ้นไปที่สมอง และ จากการที่เสริมให้มีการสร้างสารพิษ (toxins) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ผนังลำไส้รั่วและลุกลามไปทั่วร่างกายและกระทบการทำงานของสมอง

หมอธีระวัฒน์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

การใช้ยาระบายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความเสี่ยงของสมองเสื่อมทุกชนิด (all cause dementia) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และความเสี่ยงของสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยตันทั่วไปหรือ vascular dementia โดยที่ไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสมองเสื่อมแบบ อัลไซเมอร์ โดยที่อาจจะเป็นข้อจำกัดของข้อมูล หรือข้อจำกัดของการระบุชนิดของสมองเสื่อม หรืออาจจะเป็นความจริงที่ไม่เกี่ยวโยงกัน

ความเสี่ยงของสมองเสื่อม ยังขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของยาระบาย

สำหรับ ผู้ที่ใช้ชนิด oxidative laxatives อย่างเดียว ก็มีความเสี่ยงของสมองเสื่อมทุกชนิด และ ความเสี่ยงของสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดตัน

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ขนาดของยาระบายที่ใช้ในประชากรที่อยู่ในการศึกษานี้ ว่า จะมีผลทำให้เกิดสมองเสื่อมอย่างไรหรือไม่

ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และสนับสนุนการเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ระหว่างสุขภาพของลำไส้ที่เกี่ยวเนื่องกับจุลินทรีย์ และแบคทีเรียตัวดีและตัวร้ายที่กำหนด ระบบภูมิคุ้มกันต่อเนื่องไปยังเส้นประสาทและไปกระทบสมอง

แต่ในขณะเดียวกัน ยังไม่สามารถที่จะสรุปหรือพิสูจน์ได้ อย่างเป็นเหตุเป็นผล ของการใช้ยาระบายกับการเกิดสมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมา

กล่าวโดยสรุปแล้ว เรื่องท้องผูกหรือ ธาตุแข็ง ที่คนโบราณพูด โดยย้ำกับลูกหลานว่า ถ้าไม่ถ่ายจะมีพิษสะสมลามเข้าไปทั่วตัวน่าจะเป็นเรื่องจริง

และวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การกินผัก ผลไม้ กากใย ให้มาก เป็นประจำสม่ำเสมอวันละหลายมื้อก็ได้ ซึ่งผักผลไม้กากใยปฏิบัติตัวเป็นยาระบายที่วิเศษ แต่มีข้อแม้ว่าต้องดื่มน้ำเยอะด้วยจึงจะได้ผล และแน่นอนว่าต้องปลอดสารเคมีให้ได้มากที่สุด

การที่มีท้องผูกนี้ เป็นที่สังเกตมา ตั้งแต่สมัย หลาย 100 ปีแล้วที่ คุณหมอ เจมส์ พาร์กินสัน ได้สังเกตว่าคนไข้ที่ต่อมาเกิดโรคพาร์กินสันนั้น มีท้องผูกนำมาก่อน และในคนที่เกิดเป็นโรคแล้ว เมื่ออาการท้องผูกดีขึ้นโรคหรืออาการพาร์กินสันส์นั้น ก็ดีขึ้นด้วย

ทั้งหมดตอกย้ำถึง การดูแลร่างกาย อาหาร การกิน การออกกำลัง ซึ่งถ้าทำได้ จะส่งผลดี จากหัวจรดเท้า ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo