Lifestyle

6 โรคร้ายตามมา หากทำงานหนักไม่พักผ่อน

คนวัยทำงานต้องระวัง 6 โรคร้ายตามมา หากทำงานหนักไม่พักผ่อน อาจทำให้ป่วยได้โดยไม่ทันตั้งตัว

หลายคนคงเคยได้ยินว่า ทำงานยิ่งเยอะยิ่งดีเพราะผลตอบแทนยิ่งมาก คำพูดนี้อาจจริงเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่แน่นอนว่าปัญหาสุขภาพกลับแย่ลง การทำงานหนักเกินไปไม่ใช่เรื่องดี เนื่องจากสิ่งที่ตามมาอาจเป็นโรคร้ายที่ต้องหาทางรับมือ ซึ่งอาจทำให้คุณป่วยได้โดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น คนวัยทำงานต้องระวัง เพราะหากทำงานหนักเกินไป โรคเหล่านี้อาจมาเยือนได้

ทำงานหนัก

  1. ปวดหัวไมเกรน เป็นอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดจนไม่อยากทำอะไร บางรายมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย สาเหตุของไมเกรนมาจากความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงพักผ่อนไม่เพียง ซึ่งล้วนแต่มีต้นเหตุมาจากการโหมงานหนัก
  2. สายตามีปัญหา การนั่งทำงานหน้าจอนาน ส่งผลให้สายตาเริ่มมีปัญหา เช่น ตาแห้ง ปวดหัว คอ ไหล่ เป็นต้น และทำให้เห็นภาพเบลอ หากทิ้งไว้นาน จะทำให้ดวงตาเสื่อมก่อนวัยอันควร
  3. กรดไหลย้อน เนื่องจากทำงานหนัก ทำให้ทานอาหารไม่ตรงเวลา รีบเร่งทาน และการกินของรสจัดเป็นประจำ ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
  4. เครียดลงกระเพาะ เมื่อเกิดความเครียดมาก สมองจะกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติจนทำให้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะตามมา
  5. ภาวะอ้วน การนั่งทำงานติดต่อกันหลาย ชั่วโมง ส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานได้น้อยลง และอาจมีโรคอื่นตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
  6. ออฟฟิศซินโดรม เกิดจากพฤติกรรมที่นั่งทำงานนาน ไม่ได้เปลี่ยนท่าทางหรือยืดเส้น ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง และกล้ามเนื้ออักเสบได้

ภาพหน้าจอ 2566 07 18 เวลา 10.13.00

ภาวะทำงานหนักจนตาย

นอกจากโรคที่กล่าวมาข้างบนแล้วยังเสี่ยงให้เกิดภาวะคาโรชิ (Karoshi Syndrome) หรือ ภาวะทำงานหนักจนตาย เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดความเครียดสะสม กระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแคททีโคลามีน (Catecholamine) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมาในเลือด การที่ฮอร์โมนเหล่านี้มีระดับสูงในเลือดตลอดเวลา จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หลอดเลือดแข็งหนาตัวและตีบตัน เกิดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง (overworked related cardiovascular and cerebrovascular disease) จนอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

พฤติกรรมและอาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะคาโรชิ

  • ทำงานเกินเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน เริ่มงานเร็ว กลับบ้านช้า
  • เครียดจากการทำงาน คิดหมกมุ่นเรื่องงาน ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น
  • ทำงานที่มีความกดดันสูง
  • ไม่มีโอกาสลางานหรือไม่สามารถลางาน
  • ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย
  • ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน
  • นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก คิดเรื่องงานจนเก็บไปฝัน
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง

การป้องกันภาวะคาโรชิ

  • ไม่ทำงานหนักเกินพอดี ระหว่างทำงานควรพักสมองเป็นระยะ
  • ไม่ควรนำงานกลับมาทำที่บ้าน หากไม่จำเป็น
  • แบ่งเวลาพักผ่อนทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ท่องเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้
  • ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน หากนอนไม่หลับควรปรึกษาแพทย์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
  • หากมีความจำเป็น อาจพิจารณาเปลี่ยนไปทำงานที่เหมาะสมและไม่หนักเกินตัว

ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลศิครินทร์ ,โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo