Environmental Sustainability

ประชุม COP27 ‘วราวุธ’ ร่วมหารือทวิภาคีสหรัฐ รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รมว.ทส. หารือทวิภาคีกับผู้แทนพิเศษของสหรัฐอเมริกาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วงการประชุม COP27

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย COP27 ร่วมหารือทวิภาคีกับสหรัฐ นำโดย Mr. Rick Duke Deputy Special Envoy for Climate และเจ้าหน้าที่จาก Office of the Special Envoy for Climate

ประชุม COP27

พร้อมกันนี้ ยังมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และนางสาวแคทรียา ปทุมรส ผู้อำนวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมหารือ

ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นการดำเนินงานที่สำคัญของทั้งสองประเทศ และโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือของไทยกับสหรัฐ เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้

รมว.ทส. และคณะ รับทราบว่า สหรัฐ เชิญชวนประเทศไทยเข้าร่วมข้อริเริ่มระดับโลกด้านการลดก๊าซมีเทน (Global Methane Pledge) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซมีเทนของโลก 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 ครอบคลุมทั้งภาคเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม

S 13320256

ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงข้อริเริ่มด้านยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle Goal: ZEV) ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการขาย ZEV ขนาดเล็กให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีความสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยในภาพรวม

นายวราวุธ ได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานของของประเทศไทยที่มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการคำนึงถึงขีดความสามารถในการดำเนินงานของแต่ละสาขา

โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซมีเทนในภาคการเกษตร ที่เกษตรกรจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

S 13320254

สำหรับ ZEV ประเทศไทยมีมาตรการที่จะเพิ่มการผลิต ZEV เป็น 30% จากสัดส่วนการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030

อย่างไรก็ตาม การผลักดันเพื่อเร่งการดำเนินงานต้องอาศัยความร่วมมือ และการสนับสนุนจากต่างประเทศทั้งด้านการเงินและเทคนิค

ทั้งนี้ ทส. จะสื่อสารข้อริเริ่มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาตามกระบวนการภายในประเทศ โดยคาดหวังว่า การดำเนินงานดังกล่าวร่วมกัน จะสนับสนุนการรักษา Pathway 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายของความตกลงปารีสต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo